หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๓ (๑).pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

รวมมะโหรีวงหนึ่งเป็น ๙ คน[1] ถึงรัชชกาลที่ ๓ เมื่อคิดทำระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเพิ่มขึ้นในเครื่องปี่พาทย์ ก็เพิ่มของ ๒ สิ่งนั้นเข้าในเครื่องมะโหรี กับทั้งใช้ฉิ่งแทนกรับพวงให้เสียงจังหวะดังขึ้นสมกับเครื่องมากสิ่ง และเพิ่มฉาบเข้าในมะโหรีด้วย รวมมะโหรีวงหนึ่งเป็น ๑๒ คน ถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อคิดทำระนาดทองและระนาดเล็กขึ้นใช้ในเครื่องปี่พาทย์ ของ ๒ สิ่งนั้นก็เพิ่มเข้าในเครื่องมะโหรีด้วย มะโหรีในชั้นหลังวงหนึ่งจึงเป็น ๑๔ คนคล้ายกับปี่พาทย์ เป็นแต่มะโหรีมีเครื่องสายและไม่ใช้กลอง และผิดกันเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มะโหรีเป็นของผู้หญิงเล่น ปี่พาทย์เป็นของผู้ชายเล่นเป็นพื้น มาถึงรัชชกาลที่ ๕ เครื่องมโหรีลดกระจับปี่ กับฉาบมิใคร่ใช้กัน จึงกลับคงเหลือ ๑๒ คน (ดู รูปที่ ๑๒)


  1. ที่เรียกว่า ระนาดแก้ว นั้น ของเดิมจะเป็นอย่างไร ผู้แต่งหนังสือนี้ไม่เคยเห็น สืบถามก็ไม่ได้ความชัดว่า เอาแก้วหล่อเป็นลูกระนาดวางในรางอย่างระนาดทองที่ทำกันชั้นหลัง หรือตัดแผ่นกระจกเจาะรูร้อยเชือกแขวนกับรางอย่างระนาดไม้ไผ่ แต่อย่างไรเสียงก็คงไม่เพราะ จึงได้ปรากฏว่า เลิกเสีย เอาฆ้องวงเข้าใช้แทน จะเข้กับฆ้องวงนั้น แต่เดิมเป็นเครื่องสังคีตของมอญ เล่ากันมาว่า เมื่อจะเอามาใช้ในเครื่องมะโหรีไทย จะให้ผู้หญิงไทยซึ่งปกติห่มสะไบเฉียงตีฆ้องวงอย่าง (ปี่พาทย์) มอญขัดข้อง จึงได้คิดแก้เปนฆ้องวงราบ.