หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๓ (๑).pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เครื่องในประเภทอะวะนัทธะนั้น คือ กลองต่าง ๆ ทั้งจำพวกที่ขึ้นหนังหน้าเดียว ดังเช่น ทับ (ซึ่งเรียกกันเป็นคำสามัญว่า โทน) รำมะนา และกลองยาว เหล่านี้ และจำพวกที่ขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยร้อยผูก ดังเช่น บัณเฑาะว์ โทน (ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า ตะโพน) เปิงมาง กลองชะนะ กลองแขก กลองมะลายู เหล่านี้ และจำพวกกลองที่ขึ้นหนังกรึงแน่นทั้งสองหน้า ดังเช่น กลองโขน กลองละคอน (ซึ่งเรัยกกันว่า กลองทัด) ก็นับเป็นอะวะนัทธะทั้งสิ้น (ดู รูปที่ ๖ แต่บัณเฑาะว์อยู่ใน รูปที่ ๓)

เครื่องในประเภทฆะนะนั้น นับตั้งแต่ตบมือเป็นจังหวะ เรียกว่า กรดาล ถ้าใช้เครื่องทำจังหวะ มักทำด้วยโลหะเป็นพื้น มีมากมายหลายอย่าง คือ ฉิ่ง (ภาษาสังสกฤตเรียกว่า กังสดาล) ฉาบ ลูกพรวน กระดิ่ง ระฆัง ฆ้อง บางสิ่งทำด้วยไม้ เช่น กรับคู่ และกรับพวง ก็นับในพวกฆะนะ เพราะเป็นเครื่องสำหรับทำจังหวะเช่นเดียวกัน (ดู รูปที่ ๓)

เครื่องสำหรับทำลำนำบางสิ่งพิจารณาเห็นได้ว่า คงมีผู้คิดแก้ไขเครื่องทำจังหวะมาเป็นชั้น ๆ จนเลยกลายเป็นเครื่องทำลำนำ เช่น ฆ้องวง เดิมก็เห็นจะแก้ฆ้องเดี่ยวเป็นฆ้องคู่ให้มีเสียงสูงต่ำ (อย่างฆ้องที่เล่นละคอนชาตรี) แล้วแก้ฆ้องคู่เป็นฆ้องราวสามใบให้มีเสียงเป็นหลั่นกัน (อย่างฆ้องที่เล่นระเบง) แล้วเติมฆ้องให้ครบเจ็ดเสียง เป็นฆ้องวงสิบหกใบ ก็เลยกลายเป็น