หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๑๗

หนังสือทั้งปวงในเรื่องนั้น นายแกว่นอันเป็นนายเวรที่ทำการเป็นพนักงาน รักษาไว้ในกระทรวงต่อไป มักเก็บไว้บนเพดานศาลาลูกขุนเป็นมัด ๆ ไม่ได้เรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับ ถึงกระนั้น เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดี ตรวจพบใบบอกเก่าแต่ในรัชกาลที่ ๔ ยังอยู่เป็นอันมาก

ถ้าใบบอกฉบับใดที่จะต้องกราบบังคมทูล เสนาบดีก็สั่งให้ปลัดทูลฉลองคัดความขึ้นกราบบังคมทูล ลักษณะคัดความอย่างนั้นเรียกว่า คัดทูลฉลอง คือ เก็บแต่เนื้อความใบบอก แต่ต้องระวังมิให้ผิดเพี้ยนบกพร่อง ขึ้นกราบบังคมทูล

วิธีกราบบังคมทูลนั้น ตามประเพณีโบราณซึ่งยังใช้มาจนในรัชกาลที่ ๓ อันพึงเห็นได้ในหนังสือจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติซึ่งหอพระสมุดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยปรกติเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงวันละ ๒ ครั้งเป็นนิตย์ เสด็จออกเวลาเช้า ทรงว่าราชการฝ่ายตุลาการ คือ พิพากษาฎีกาของราษฎร เป็นต้น เสด็จออกเวลาค่ำ ทรงว่าราชการบ้านเมือง เสนาบดีต้องไปเฝ้าพร้อมกันหมด มีใบบอกราชการอย่างไรมาแต่หัวเมือง เมื่อเสนาบดีเจ้ากระทรวงทูลเบิกแล้ว ปลัดทูลฉลองอ่านใบบอกที่คัดนั้นถวายทรงฟัง เมื่อทรงฟังตลอดแล้ว ตรัสปรึกษาหารือกับเสนาบดีเป็นยุติแล้ว ตรัสสั่งให้ทำอย่างไน ปลัดทูลฉลองก็เป็นผู้จดจำกระแสรับสั่งมาจัดการ ถ้าเป็นราชการสำคัญ โปรดให้นำร่างตราขึ้นถวายทรงตรวจแก้ก่อน ก็เป็นหน้าที่ปลัดทูลฉลองที่จะนำร่างตราเข้าไปอ่านถวายและแก้ไขตามรับสั่งในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนเมื่ออ่านใบบอก

ราชการแผ่นดินทำเป็นการเปิดเผยดังพรรณนามา