หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/33

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๒๘

เจ้ากระทรวงในราชธานีว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านของตนอื่นเพียงที่เรียกกันว่า จวน เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า ศาลากลาง เป็นที่สำหรับประชุมกรมการเวลามีการงาน เช่น รับท้องตราหรือปรึกษาราชการ เป็นต้น เวลาไม่มีการงาน ก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลชำระความ เห็นได้ว่า ศาลากลางก็เป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั้นเอง เรือนจำสำหรับขังนักโทษก็อยู่ในบริเวณจวนอีกอย่างหนึ่ง แต่คงเป็นเพราะคุมขังได้มั่นคงกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับจวนเหมือนกับศาลากลาง

มีเรื่องปรากฏมาแต่ก่อนว่า ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ทอดพระเนตรเห็นศาลกลางตามหัวเมืองซอมซ่อจนทรงสังเวชพระราชหฤทัย ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ซ่อมแซมเมืองละ ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท) เมืองไหนทำสำเร็จแล้ว พระราชทานป้ายจำหลักปิดทองประดับกระจกทำเป็นรูปเงินเหรียญรัชกาลที่ ๔ ลายเป็นรูปพระมหามงกุฎแผ่น ๑ รูปช้างอยู่ในวงจักรแผ่น ๑ พระราชทานให้ไปติดไว้ ณ ศาลากลางซึ่งได้ทรงปฏิสังขรณ์ เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไป ยังมีอยู่บางแห่ง ข้าพเจ้าได้ยินมาจำลองรักษาแบบไว้ เดี๋ยวนี้ อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่มาภายหลัง ศาลากลางก็กลับทรุดโทรมน่าทุเรศอย่างเก่า หามีแห่งใดเป็นที่สง่าผ่าเผยไม่

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเจ้าเมืองต้องสร้างจวนและศาลากลางด้วยทุนของตนเอง แม้แต่แผ่นดินซึ่งจะสร้างจวน ถ้ามิได้อยู่ภายในเมืองมีปรากการ เช่น เมืองพิษณุโลก เป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาซื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย