หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/34

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๒๙

จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมือง ก็เป็นมรดกตกแก่ลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจวนเดิมต่างฟากแม่น้ำ หรือแม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหน ก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมืองจึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นนิตย์เหมือนอย่างทุกวันนี้อันเพิ่งมีขึ้นเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ส่วนพวกกรมการนั้น เพราะมักเป็นคฤหบดีอยู่ในเมืองนั้นแล้วจึงได้เป็นกรมการ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็คงอยู่ที่นั้น เป็นแต่เวลามีการงานจะต้องทำตามหน้าที่ จวนเจ้าเมืองอยู่ที่ไหน ก็ตามไปฟังคำสั่งที่นั่น บางคนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างถึงต่างอำเภอก็มี ด้วยเคยเป็นคฤหบดีอยู่ที่แห่งนั้นมาก่อน เจ้าเมืองประสงค์จะให้เป็นผู้รักษาสันติสุขในท้องที่นั้นเหมือนอย่างนายอำเภอซึ่งมีขึ้นในสมัยเทศาภิบาล จึงขอให้คฤหบดีคนนั้นเป็นกรมการ หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง คือ ตั้งนักเลงโตซึ่งมีพรรคพวกมากให้เป็นกรมการ เพื่อจะให้โจรผู้ร้ายยำเกรงไม่กล้าปล้นสะดมในถิ่นนั้น แต่บางทีก็กลับให้ผลร้าย ดังเคยมีเรื่องปรากฏเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ผู้รักษากรุงศรีอยุธยาตั้งคฤหบดีคนหนึ่งชื่อ ช้าง เป็นที่หลวงบรรเทาทุกข์ อยู่ที่เกาะใหญ่ ด้วยแม่น้ำตอนเกาะใหญ่ลานเทเป็นย่านเปลี่ยว มักมีโจรตีปล้นเรือที่ขึ้นล่อง หลวงบรรเทาฯ คนนั้นขึ้นชื่อคนชมในการรับรองผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งผ่านไปมา แม้จนชาวเรือขึ้นล่อง ถ้าใครไปพึ่งพำนักหลวงบรรเทาฯ โจรผู้ร้ายก็ไม่กล้าย่ำยี ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นมาแต่ปลายรัชกาลที่ ๔