หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/35

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๓๐

จนถึงรัชกาลที่ ๕ ความปรากฏขึ้นจากคำให้การของโจรผู้ร้ายที่จับได้หลายรายว่า เป็นพรรคพวกของหลวงบรรเทาฯ โปรดให้ข้าหลวงชำระ ก็ได้ความว่า หลวงบรรเทาฯ เป็นนายซ่องโจรผู้ร้าย เป็นแต่ให้ไปทำการโจรกรรมเสียในเขตแขวงอื่นภายนอกถิ่นที่ตนปกครอง หลวงบรรเทาฯ ถึงถูกประหารชีวิต เป็นเรื่องเลื่องลือกันอื้อฉาวอยู่คราวหนึ่งในเวลาข้าพเจ้าแรกรับราชการ

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองเหนือ ยังมีกรมการที่เคยเป็นนักเลงโตอยู่หลายเมือง เพราะในสมัยนั้น ยังไม่มีโปลิศหรือตำรวจภูธรที่เป็นพนักงานสำหรับตรวจจับผู้ร้าย เจ้าเมืองต้องปราบปรามตามปัญญาของตน จึงเกิดความคิดที่จะหานักเลงโตมีพรรคพวกตั้งเป็นกรมการไว้สำหรับปราบปรามโจรผู้ร้าย ที่จริงกรมการชนิดนั้นก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายไปทุกคน โดยมากมักไปตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ตามบ้านนอก เมื่อได้เป็นกรมการ ก็มักหาประโยชน์ด้วยทดรองทุนตกข้าวจากราษฎรและขอแรงราษฎรช่วยทำนาของตนแลกกับคุ้มโจรผู้ร้ายให้ราษฎร ต่อบางคนจึงเลยหากินไปในทางทุจริต ถึงเป็นใจให้พรรคพวกไปเที่ยวลักวัวควายหรือปล้นทรัพย์เพื่อจะได้สวนแบ่งเป็นผลประโยชน์

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจหัวเมืองครั้งแรก ได้พบกรมการซึ่งสงสัยว่าหากินอย่างนั้น ๒ คน เรียกกันว่า ขุนโลกจับ อยู่ที่เมืองพยุหคีรี คน ๑ แต่เมื่อข้าพเจ้าพบนั้นแก่ชรามากแล้ว ต่อมาได้ยินว่า ออกบวชแล้วก็ตาย อีกคนหนึ่งเป็นที่หลวงศรีมงคล อยู่ที่เมืองอ่างทอง เจ้าเมืองใช้สอยอย่างว่าเป็นมือขวา กล่าวกันว่า เพราะจับโจรผู้ร้ายเข้มแข็งนัก เมื่อข้าพเจ้าจะเดินบกจากเมืองอ่านทองไปเมืองสุพรรณบุรี เจ้าเมืองให้หลวงศรีมงคลนั้นเป็นผู้จัด