หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/45

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๔๐

กรุงเทพฯ หมายจะเอาไม้สักเมืองไทยเลื่อยส่งไปขายต่างประเทศ จึงเริ่มเกิดสินค้าไม้สักเมืองไทยส่งไปขายต่างประเทศมาแต่รัชกาลที่ ๔ การทำป่าไม้สักก็เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมาทั้งในเมืองไทยและเมืองมอญ

ถึงรัชกาลที่ ๕ พวกทำป่าไม้ในแดนมอญอยากจะตัดไม้สักต่อเข้ามาในแดนเมืองเชียงใหม่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน จึงเข้ามาคิดอ่านกับพวกพ่อค้าพม่าที่ฝากตัวอยู่กับพระเจ้าเชียงใหม่ ขออนุญาตตัดไม้สัก โดยจะยอมให้เงินค่าตอทุกต้นสักที่ตัดลง

ในเวลานั้น พระเจ้าเชียงใหม่ยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดในบ้านเมืองอย่างประเทศราชแต่โบราณ เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้จากป่าไม้ ก็อนุญาตให้พวกพม่าทำป่าไม้ทางแม่น้ำสาละวินหลายแห่ง ด้วยสำคัญว่าจะบังคับบัญชาได้เหมือนอย่างเคยบังคับบัญชาพวกพม่าที่มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ แต่พวกทำป่าไม้ต้องกู้เงินเขามาทำเป็นทุน ทำการหมายแต่จะหากำไร บางคนไม่ยอมทำตามบังคับบัญชาของพระเจ้าเชียงใหม่ ในเมื่อเห็นว่า จะเสื่อมเสียประโยชน์ของตน พระเจ้าเชียงใหม่ให้ลงอาญา เช่น ห้ามมิให้ตัดไม้ เป็นต้น พม่าพวกทำป่านั้นไปได้คำแนะนำของพวกเนติบัณฑิตในเมืองพม่า เข้ามาร้องทุกข์ต่อกงสุลอังกฤษกรุงเทพฯ กงสุลก็อุดหนุนรับธุระให้ร้องต่อรัฐบาลให้เรียกค่าสินไหมจากพระเจ้าเชียงใหม่ให้แก่ตน ในชั้นแรก มีการฟ้องร้องน้อยเรื่อง โปรดให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม) เมื่อยังเป็นพระยาเทพอรชุน เป็นข้าหลวงขึ้นไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ก็ว่ากล่าวเปรียบเทียบให้เสร็จไปได้ แต่ทางเมืองเชียงใหม่ยังให้อนุญาตป่าไม้อยู่ไม่หยุด ถ้อยความเรื่องป่าไม้ก็กลับมีมากขึ้น และเจือไปเป็นการเมือง ด้วยกงสุลเข้ามาเกี่ยวข้องอุดหนุน