หน้า:แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๓๕-๐๖-๓๐).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๗๓

๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๕
หน้า ๔
ราชกิจจานุเบกษา

อนึ่ง ในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งนั้น รัฐบาลได้รับฟังความเห็นมาโดยตลอด ทั้งจากนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่า กฎหมายดังกล่าวยังมีส่วนที่ควรแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และระยะเวลาในสมัยประชุมที่เหลืออยู่ก็ไม่อาจเร่งรัดดำเนินการให้ทันได้ เว้นแต่จะอาศัยความปรองดองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เห็นชอบให้เสนอเป็นร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลก็ได้สอบถามความประสงค์แล้ว โดยการพบปะหารือกับผู้นำพรรคการเมืองทุกพรรค ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎณได้กรุณาประสานงานให้ แต่ผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคแจ้งว่า ไม่อาจดำเนินการได้ทันในสมัยประชุมนี้ และแม้จะทัน ก็ไม่แน่ใจว่า จะได้รับความเห็นชอบร่วมกันในทุกประเด็น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้งจึงต้องรอไว้ก่อน แต่รัฐบาลก็ยินดีสนับสนุนการศึกษาวิจัยหรือการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นแนวทางใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการในโอกาสต่อไป

๔. สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม ๔ ฉบับ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ๓ ฉบับแรกแล้ว อันจะมีผลให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้ในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองโดยไม่จำกัด และอำนาจของวุฒิสภาลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบัดนี้ ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และรัฐบาลได้ดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนฉบับที่ ๔ อันว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีว่า ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เนื่องจากมีประเด็นพิจารณาในทางกฎหมายว่า เมื่อประกาศใช้แล้ว นายกรัฐมนตรีจะสามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ได้หรือไม่ จึงต้องชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไว้ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลขอยืนยันว่า การดำเนินการเช่นนี้มิใช่เพราะปรารถนาอำนาจ หรือประสงค์จะหน่วงเหนี่ยวการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ มิให้กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเจตนารมณ์ของการที่ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจชุดนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันที่ได้รับเรื่องจากสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา กล่าวคือ ไม่เกินวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้นเอง

ในการนำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๔ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพิจารณา รัฐบาลจะกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยละเอียด