หน้า:แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๔๓-๑๑-๐๙).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๑๐๒ ก

๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
หน้า ๔
ราชกิจจานุเบกษา

รวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม ดังนั้น จึงสมควรคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่

๓. รัฐบาลได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า โดยที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการใหม่หลายประการเป็นครั้งแรก ซึ่งประชาชนทั่วไปยังไม่คุ้นเคย เพราะไม่เคยมีการเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น จึงต้องมีระยะเวลาที่จะประชาสัมพันธ์และบริหารจัดการก่อนวันเลือกตั้งอย่างรอบคอบรัดกุม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งให้คำแนะนำว่า สมควรจัดเลือกตั้งในวันเสาร์ เพื่อจะได้ระดมบุคลากรจากภาครัฐและเอกชนมาช่วยงานที่ต้องทำเนื่องในวันถัดไปได้โดยสะดวก และวันเลือกตั้งควรมีระยะเวลาห่างจากวันยุบสภา ๕๐ วันเป็นอย่างน้อย เมื่อเป็นดังนี้ จุงเห็นควรจัดให้มีการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งมีเวลาห่างจากวันยุบสภา ๕๙ วัน

๔. รัฐบาลตระหนักดีว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบกำหนดอยู่แล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงความต้องการของประชาชนที่ประสงค์จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด การยุบสภาก่อนที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะครบกำหนดจึงเท่ากับเร่งให้สามารถจัดเลือกตั้งได้เร็วขึ้น

๕. เมื่อยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงด้วย แต่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๕ กำหนด เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแล้วให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และให้ระมัดระวังที่จะไม่กระทำการใดอันจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม หรือก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่า มีการฉวยโอกาสจากการที่ไม่มีองค์กรควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินไปกระทำการใดโดยมิชอบหรือไม่สุจริต

๖. ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้วยการเตรียมไปใช้สิทธิและทำหน้าที่ของตนด้วยความตื่นตัวและรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด และมีสถิติผู้มาออกเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย อันจะเป็นนิมิตหมายสำคัญแห่งความรุ่งเรืองของการปฏิรูปการเมืองและความรุ่งโรจน์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป

  • สำนักนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓