หน้า:แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๔๙-๐๒-๒๔).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๐ ก

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
หน้า ๔
ราชกิจจานุเบกษา

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนพ้นภาวะวิกฤตและก้าวทันการแข่งขันในโลกปัจจุบัน

แต่บัดนี้ ได้มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจในตัวผู้นำรัฐบาล และได้มีการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองเชิงบีบบังคับ ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่า จะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังที่ได้ปรากฏว่า มีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการระเบิดขึ้นในสถานที่ของผู้ประกาศตัวว่าจะมาร่วมชุมนุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้รัฐบาลจะได้พยายามเรียกร้องให้เกิดความปรองดองกัน ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลและระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็น น่าอยู่อาศัย น่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์

อนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาแล้วก็ตาม กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ยังหายุติการดำเนินการทางการเมืองดังกล่าวไม่ ยิ่งกว่านั้น พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางพรรค สมาชิกวุฒิสภา บางส่วน ซึ่งควรใช้ครรลองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการตรวจสอบรัฐบาลในที่ประชุมรัฐสภา กลับไม่ยึดกติกาโดยวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วิธีเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังที่ปรากฏในการชุมนุมครั้งที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ความวิตกกังวลขยายวงกว้างขึ้น อันเป็นการกระทบต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และขยายความสับสนให้เพิ่มขึ้น อันอาจกระทบต่อศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา จึงมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนโดยทั่วไปให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร