หน้า:แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๔๙-๐๒-๒๔).pdf/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๐ ก

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
หน้า ๕
ราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนั้น ก็มีเสียงเรียกร้องแกมบังคับให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยบุคคลบางกลุ่ม อันแตกต่างไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่ โดยยังมิได้มีการปรึกษาประชาชนทั้งประเทศ ทั้งที่รัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นสัญญาประชาคมที่คนทั้งสังคมต้องมีส่วนในการร่วมกำหนด มิใช่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตย ก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือ การคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชน ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ความสับสน ความวิตกกังวลของประชาชน หมดไป และทำให้ภาวการณ์บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถนำปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ ไปปรึกษาประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริง เพื่อประชาชนจะได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย อันเป็นที่สุดยุติปัญหาทางการเมืองทั้งปวง

๓. รัฐบาลได้หารือกับประธานกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรก็จริง แต่ตามกฎหมายและในความเป็นจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมที่จะดำเนินการเลือกตั้งตั้งแต่วันครบสามสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงได้กำหนดในวันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเร็ว อันจะส่งผลให้การประกาศผลการเลือกตั้งได้ก่อนวันอังคารที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เพื่อที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้ประชุมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และให้เวลานายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจักได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร และลงมือบริหารราชการแผ่นดินได้ก่อนเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙

๔. เมื่อยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงด้วย แต่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๕ กำหนด เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย