ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๓๘  โฉมหน้าศักดินาไทย

เป็นความหมายทางด้านการเมืองแล้ว, มันยังหมายคลุมไปถึง "อำนาจที่กำหนดรูปแบบของชีวิตซึ่งขั้นอยู่กับอำนาจในที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน" ซึ่งเป็นความหมายในด้านวัฒนธรรมอีกด้วย

อำนาจทางเศรษฐกิจ, อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางวัฒนธรรม ที่ขึ้นอยู่และพัวพันกับที่ดินดังกล่าวนี้ แหละคือความหมายอันสมบูรณ์แท้จริงของคําว่า "ศักดินา"

บางทีอาจจะทำให้กระจ่างแจ้งขึ้นอีกก็เป็นได้ ถ้าจะย้ำให้ละเอียดลงไปว่า "ศักดินา" เป็นระบบของสังคมและระบบของสังคมนั้นย่อมจักต้องประกอบด้วยด้านต่างๆ สามด้าน กล่าวคือ เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม อนึ่ง การที่จะพิจารณาถึงลักษณะแห่งระบบสังคมนั้นจําเป็นต้องพิจารณาเจาะลงไปให้ถึงเครื่องมือในการทำมาหากินที่สำคัญ หรือปัจจัยการผลิตหลักของสังคมนั้นๆ แล้วหลังจากนั้น จึงพิจารณาถึงผลสะท้อนของการถือกรรมสิทธิในปัจจัยแห่งการผลิตที่สะท้อนออกมาในทางเศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมอีกทอดหนึ่ง

ข. ลักษณะทางเศรษฐกิจของระบบศักดินา

ลักษณะทางเศรษฐกิจของระบบนี้ ก็คือ

๑) การถือกรรมสิทธิปัจจัยแห่งการผลิต และการแสวงหาประโยชน์จากปัจจัยแห่งการผลิตนั้น

ปัจจัยแห่งการผลิตที่สำคัญได้แก่ ที่ดินและเครื่องมือจําเป็นอื่นๆ เป็นต้นว่า วัวควาย พันธ์ุข้าว ฯลฯ ส่วนใหญ่ตกเป็นกรรมสิทธิของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าพวก "เจ้าขุนมูลนาย" (Feudal Lords) หรือ พวก "เจ้าที่ดิน" (Landlords) เมื่อที่ดินอันเป็นปัจจัยแห่งการผลิตสำคัญตกไปเป็นกรรมสิทธิของพวกชนกลุ่มน้อยเช่นนี้ ประชาชนส่วนข้างมากอันเป็นพลังผลิตสำคัญของสังคมจึงต้องตกเป็นคนงานที่ทําการเพาะปลูกในที่ดินของ