ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/112

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๓๙ 

ไร่ของที่นาที่อนุญาตให้ซื้อได้๖๘ หรือไม่ก็แถลงสาเหตุเดิมของการตั้งทำเนียบศักดินาไว้อย่างน่าฟังว่า "มูลเหตุเดิมเห็นจะประสงค์เพียงห้ามมิให้ใครหวงที่นาไว้เกินกว่ากำลังที่จะทำให้เกิดผลได้"๖๙ คำอธิบายเช่นนี้เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อปกปิดความเป็นจริงในการขูดรีดของชนชั้นศักดินาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงจะพยายามบิดเบือนอย่างไรเขาก็ไม่สามารถปกปิดความจริงข้อหนึ่งได้ว่า ชนชั้นศักดินาเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ มีสิทธิในการครอบครองที่นาได้มากมายกว่าไพร่ทั้งหลายทั้งปวง พวกไพร่ทั้งปวงได้ถูกชนชั้นศักดินากีดกันที่ดินสงวนไว้แบ่งปัน แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจนกระทั่งทุกคนต้องกลายเป็น "ไพร่เลว" เป็น "เลก" เป็น "ทาส" กันเต็มบ้านเต็มเมือง

ถ้าเราจะมองย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือเอเซียจะเห็นชัดว่าระบบการแบ่งปันที่ดินในยุคศักดินานี้ มิใช่ระบบที่ตั้งขึ้นเล่นโก้ๆ เฉยๆ หากได้กระทำกันอย่างจริงจังและจำเป็นต้องกระทำด้วย เหตุผลของความจำเป็นก็คือ ๑) ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของชนชั้นศักดินา, ๒) ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นศักดินา และ ๓) กฏทางภววิสัยของความพัฒนาแห่งระบบการผลิตดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นของบทนี้ แต่อย่างไรก็ดีจะขอย้ำว่าระบบการแบ่งปันที่ดินนี้ พระบรมไตรโลกนาถจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อใช้ผลประโยชน์บนที่ดินเข้าผูกใจบรรดาข้าราชบริพารที่ร่วมงานกันมา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกบฏ, จลาจล, เปลี่ยนราชวงศ์, เพื่อจัดตั้งเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ขึ้น ซึ่งชุดใหม่นี้ย่อมจัดตั้งขึ้นจากข้าราชบริพารที่เห็นว่าซื่อสัตย์และจงรักภักดี ทั้งนี้ เพื่อขจัดอำนาจของเจ้าขุนมูลนายชุดเดิม ที่ต่างก็วางโตถือว่าตนเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ และพร้อมกันนั้นก็ได้จำกัดขนาดที่ดินของเจ้าขุนมูลนาย