ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/114

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๔๑ 
 

และขยายวงออกไป ที่ดินใหม่ที่หักร้างถางพงแล้วจึงลดน้อยลง และถ้ามีขึ้น กษัตริย์ก็มักจะยึดไว้ครอบครองเสียเอง หรือแบ่งให้ลูกหลานของตนเองเสียหมด พวกข้าราชการจึงได้รับแต่บรรดาศักดิ์และเครื่องยศและอัตราที่ดินซึ่งต้องไปหาที่ดินเอาเอง เมื่อต้องขวนขวายหาที่ดินเอาเอง พวกนี้ ก็มักใช้อำนาจเข้าเบียดเบียนกดขี่ไพร่ พวกไพร่หลวงไพร่ราบไพร่เลวจนกรอบลงทุกที เพราะการขูดรีดของเจ้าที่ดินและของรัฐ การกู้หนี้จำนองก็เกิดขึ้น ลงท้ายที่ดินก็หลุดมือไปเป็นของพวกเจ้าขุนมูลนายผู้มีเงินและอำนาจ ในยุโรปและประเทศอื่นๆ ทางเอเซียก็มีลักษณะการสืบทอดมรดกที่ดินและการแสวงหาสวาปามที่ดินลงรอยเดียวกันนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นถึงในชั้นหลังกฏหมายศักดินาจะมิได้แจกจ่ายที่ดินให้แก่ผู้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จริงๆ แต่มันก็ได้ควบคุมปริมาณที่ดินของพวกไพร่ไว้ และเปิดช่องทางให้พวกเจ้าขุนมูลนายขูดรีดครอบครองที่ดินได้ตามอำเภอใจ

อนึ่ง แม้ว่าพวกขุนนางในชั้นหลังจะไม่มีที่ดินพระราชทาน แต่พวกนี้ ส่วนมากก็มักมีที่ดินเป็นทุนเดิมสืบสกุลอยู่แล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ ก็เพราะพวกขุนนางวางน้ำส่วนมาก ก็มักจะมีชาติกำเนิดในชนชั้นศักดินาทั้งนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแต่พวกนี้เท่านั้นที่ได้มีโอกาสศึกษาและถวายตัวเข้าทำราชการ พวกไพร่จะได้ศึกษาอย่างมากก็โรงเรียนวัด หรือบวชเป็นพระภิกษุเพื่อการศึกษา แต่พวกบวชแล้วสึกออกมานี้ ราชการก็ไม่พึงประสงค์เสมอไป แน่นอน สังคมของศักดินาก็ย่อมต้องดำเนินไปเพื่อดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินาและโดยศักดินาอย่างไม่มีข้อสงสัย ตำแหน่งราชการต่างๆ ล้วนได้ผูกขาดไว้สำหรับลูกหลานในชาติตระกูลของพวกศักดินาทั้งนั้น พวกไพร่ และพวกชาววัดที่จะขยับเขยื้อนขึ้นมาได้นั้นมีน้อยตัวเต็มที นับตัวได้ พวกนี้แม้จะ "ชำนิชำนาญกระบวนการในกระทรวงยิ่งกว่าพวกผู้ดี