พวกเจ้าขุนมูลนาย พวกนี้ได้รับสิทธิให้มีทรัพย์สินส่วนตัวได้ แต่ก็มีหน้าที่ทํางานบนที่ดินผืนหนึ่งๆ โยกย้ายไปไหนไม่ได้ เพราะพวกเจ้าขุนมูลนายได้ตระเวนออกสำรวจลงทะเบียนไว้เป็นคนในสังกัด เมื่อที่ดินผืนนั้นโอนไปเป็นของเจ้าขุนมูลนายคนใหม่ พวกคนงานกสิกรรมที่เรียกว่า "ทาสกสิกร" (Serf) เหล่านี้ ก็ถูกโอนเป็นทาสติดที่ดินไปด้วย พวกทาสกสิกรเหล่านี้ ในเมืองไทยเรียกกันว่า "เลก" หรือ "ไพร่" ผลิตผลที่พวกเลกทําได้ต้องส่งเป็น "ส่วย" ให้แก่เจ้าขุนมูลนายเป็นประจำตามอัตราที่กำหนดขึ้นตามความพอใจของเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งอาจจะเป็น ๕๐ หรือ ๖๐ หรือ ๗๐ หรือแม้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลทั้งหมดก็ได้ สุดแท้แต่เงื่อนไขที่ตกลงกัน นี่เป็นพวกที่หนึ่ง พวกที่สองได้แก่พวกที่เป็นเสรีชนหรือเป็นไท ซึ่งต้องเช่าที่ทางของพวกเจ้าที่ดินทํามาหากิน พวกนี้ ต้องแบ่งผลิตผลส่งให้แก่เจ้าที่ดินเป็น "ค่าเช่าที่" ซึ่งค่าเช่านั้นอาจจะวางลงเป็นอัตราไร่ละ ๘ ถัง หรือ ๑๐ ถัง หรือจะวางเป็นอัตราว่าต้องเสียค่าเช่าที่เป็นจำนวน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลทั้งหมดที่ได้จากที่ดินนั้นๆ ก็ได้ อัตราค่าเช่าที่ใช้กันอยู่แพร่หลายก็คือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลที่ทําได้ ซึ่งระบบนี้ เรียกกันว่า "ทํานาแบ่งครึ่ง" สภาพของพวกนี้แทบจะไม่ผิดอะไรกับพวกเลกหรือไพร่เท่าใดนัก จะผิดกันก็ตรงที่พวกนี้อาจโยกย้ายที่อยู่ได้โดยอิสระเสรี ไม่มีข้อผูกมัดกับที่ดินเท่านั้น พวกที่สาม ได้แก่พวกที่มีที่ดินทํามาหากินเองเป็นรายย่อย (คือพวกชาวนาเอกระ) หน้าที่ของพวกนี้ ก็คือต้องแบ่งผลิตผลเสียแก่เจ้าขุนมูลนายเป็น "ภาษี" หรือ "อากรค่านา" อาจจะเป็นไร่ละ ๑ ถัง หรือถึง ๖ ถังก็ได้ แล้วแต่ชนชั้นปกครองอันเป็นพวกเจ้าที่ดินใหญ่จะกำหนด
หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/12
หน้าตา