หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/121

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๔๘  โฉมหน้าศักดินาไทย

จะเห็นได้ว่า ได้พยายามป่าวประกาศทั่วไปให้คนเข้ามาทำนา ถึงกับตั้งบำนาญให้แก่ผู้ที่ชักชวนคนเข้าทำมาหากิน ถ้าย้อนไปดูกฏหมายลักษณะเบ็ดเสร็จสมัยพระเจ้าอู่ทอง ก็จะพบว่ามีที่ว่างร้างอยู่มากมาย กฏหมายบังคับให้นายบ้านคอยจัดหาคนเข้าอยู่ทำประโยชน์ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ามีที่ทางพร้อมเสมอที่จะแจกจ่ายให้แก่ทุกๆ คน ในการสงครามสมัยศักดินาการรบแต่ละครั้งจะลงเอยด้วยการกวาดต้อนครัวข้าศึกเข้ามา ที่เอาเข้ามานั้นมิได้ประสงค์จะกดลงเป็นทาสทั้งหมดเหมือนสมัยทาส หากกวาดเข้ามาสำหรับใช้เป็นกำลังผลิต ฉะนั้นพอกวาดเข้ามาได้แล้ว ก็มักประทานที่ให้อยู่เป็นแห่งๆ ไป ที่นครสวรรค์ ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก หัวเมืองปักษ์ใต้ ล้วนเป็นที่รองรับครัวที่กวาดต้อนอพยพมาทั้งนั้น ในพงศาวดารมักจะปรากฏเสมอว่า ไม่เขมรก็พม่าแอบเข้ามากวาดต้อนครัวไทยไปดื้อๆ นั่นก็คือลักษณะของการแสวงหาและช่วงชิงกำลังผลิตนั่นเอง พวกครัวต่างๆ นี้ เมื่อผลิตออกมาจากที่ดิน ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าพระคลัง กษัตริย์จึงโปรดปรานครัวพวกนี้นักหนา

ด้วยเหตุผลและหลักฐานเท่าที่แสดงมานี้ คงจะพอลบล้างคำอธิบายบิดเบือนของพวกนักพงศาวดารศักดินาได้ว่า กฏหมายศักดินาที่ตราออกในครั้งนั้น พระบรมไตรโลกนาถมิได้ตราออกเล่นสนุกๆ หากได้ปฏิบัติและพระราชทานที่ดินจริงจัง พวกขุนนางนอกจากจะได้ที่ดินแล้ว ยังได้ผู้คนในบริเวณที่ดินของตนอีกด้วย ที่ตรงไหนมีคนทำอยู่แล้วก็ต้องส่งผลประโยชน์แบ่งปันมาให้ตน ที่ตรงไหนยังว่างเปล่าอยู่ก็ไปเที่ยวตระเวนเกณฑ์ผู้คนเข้ามาทำ ซึ่งตามกฏหมายการตระเวนหาผู้คนมาทำนั้นเป็นสิ่งที่มีความดีความชอบเสียอีกด้วย!

แม้มาในชั้นหลังที่มิได้มีการพระราชทานที่ดินกันจริงจัง