หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/130

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๕๗ 

ทศรถ (อยุธยาตอนกลาง) แต่จะมีรายละเอียดอย่างไรหาหลักฐานไม่ได้ เชื่อว่าการกัลปนาวัดที่กษัตริย์ทำแล้วพงศาวดารมิได้จดลงไว้เป็นล่ำเป็นสันก็คงจะมีอีกมาก บางทีอาจจะมีแทบทุกสมัยรัชกาลก็ได้ ทั้งนี้สังเกตได้จากกฏหมายที่ชนชั้นศักดินาประกาศใช้ รู้สึกว่าเอาธุระเรื่องกัลปนามาตั้งแต่สมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวงซึ่งตราออกใช้ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง รามาธิบดีที่ ๑ กษัตริย์องค์แรกของอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ต่อ ๒๐) ก็มีอยู่มาตราหนึ่งที่ห้ามซื้อขายที่ดินและผู้คนในกัลปนาดังนี้

"มาตราหนึ่ง ไพร่หลวงงานท่านก็ดี ไพร่อุทิศกัลปนาให้เป็นข้าพระก็ดี เรือกสวนไร่นาสำหรับสัด (ส่วน) พระสัดสงฆ์ก็ดี ท่านมิให้ผู้ใดซื้อขายถ้าแลไพร่หลวงไพร่อุทิศต้องสุขทุกข์ประการใดแลเรือกสวนไร่นาสัดพระสัดสงฆ์เกี่ยวข้องอยู่ก็ดี ท่านให้บังคมทูลให้ทราบแล้วแต่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถ้าแลผู้ใดเอาไพร่หลวงไพร่อุทิศแลเรือกสวนไร่นาอันเป็นสัดพระสัดสงฆ์ไปซื้อขายแก่ผู้ใด ผู้ใดใครสมคบไถ่ซื้อไว้ท่านว่าผู้นั้นมิชอบ ให้เอาไพร่หลวงไพร่อุทิศกัลปนาและเรือกสวนไร่นา สัดพระสัดสงฆ์คงไว้ในราชการ ส่วนทรัพย์อันไถ่อันซื้อนั้นให้เรียกคืนไว้เป็นหลวง" (อาญาหลวง ๑๓๘)

ขอให้สังเกตด้วยว่า การพระราชทานที่เป็นกัลปนาแก่วัดนั้นมี ๒ วิธี วิธีหนึ่งเป็นการพระราชทานที่เด็ดขาดไม่เหมือนกับที่พระราชทานแก่เอกชน ซึ่งอาจเรียกเวนคืนได้ ในสมัยพระนารายณ์มหาราชเคยยกที่ดินในวังลพบุรีให้เป็นกัลปนาวัด ทั้งนี้ เพื่อบวชพวกข้าราชการที่จะต้องถูกพระเพทราชาและพระเจ้าเสือดักจับฆ่าตอนพระองค์สวรรคต รัชกาลที่ ๔ อยากได้วังคืนมาเป็นของเจ้าสำหรับอยู่ให้สบายอารมณ์ ก็ต้องหา ที่ดินผืนใหม่มาแลก