หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/137

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๖๔  โฉมหน้าศักดินาไทย

ถัดมาอีกขั้นหนึ่งเป็นพวก "ไพร่ราบ" พวกนี้คือไพร่ชั้นสูง มีฐานะดีกว่าพวกไพร่เลว เป็นอิสระแก่ตัว ไม่ต้องขอใครกินหรือพึ่งพาใครอยู่ พวกนี้ได้คนละ ๑๕ ไร่

นี่คืออัตราสูงสุดที่แต่ละคนจะได้รับในฐานะที่เป็นประชาชนของพระราชอาณาจักรสยามหรือในฐานะที่เป็นข้าแผ่นดินของท่าน

อัตราเหนือขึ้นไปนี้ยังมีอีกสองอัตรา นั่นคือ

อัตรา ๒๐ ไร่ สำหรับไพร่มีครัว ไพร่มีครัวนี้ มิได้หมายถึงไพร่ที่มีครอบครัว หากหมายถึงไพร่ที่คุมครัวมาจากที่อื่น เช่น ทิดโตคุมครัวลาวมาจากเวียงจันทน์มีพวกลาวอยู่ในการนำหมู่หนึ่งอาจจะเป็น ๒๐-๓๐ หรือ ๕๐ ดังนี้ ทิดโตก็เป็นไพร่มีครัว ได้รับส่วนแบ่ง ๒๐ ไร่ เป็นความดีความชอบฐานที่มันชักชวนผู้คนมาทำนาให้ในหลวงท่าน

อัตรา ๒๕ ไร่ สำหรับไพร่หัวงาน นั่นคือสำหรับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้างานของแต่ละย่าน ทิดโตที่คุมครัวลงมานั้น ถ้าเกิดได้เป็นหัวหน้างานโยธาทำถนนในพระราชวังหรือรอบพระราชวัง ทิดโตต้องคอยดูแลเร่งรัดงาน คอยควบคุมคนมิให้หลบหนี ฯลฯ แกก็ได้รับส่วนแบ่ง ๒๕ ไร่ เป็นรางวัลพิเศษ

อย่างดีที่สุด ถ้าทิดโตได้รับแต่งตั้งเป็น "ห้าสิบ" คือหัวหน้าของประชาชนในสิบหลังคาเรือน แกก็ได้ส่วนแบ่งเขยิบสูงขึ้นอีก ๕ ไร่ เป็น ๓๐ ไร่ ซึ่งในกรณีนี้ แกก็กลายเป็นข้าราชการไปเสียแล้ว หาใช่สามัญชนธรรมดาไม่

ในต้นสมัยของระบบศักดินา เป็นยุคสมัยของการปลดปล่อยทาสครั้งใหญ่ พวกทาสจึงได้รับส่วนแบ่ง หรือ "รับพระราชทาน" ที่ดินด้วยทุกตัวคน คนหนึ่งได้ ๕ ไร่ เสมอกันกับพวกยาจก (คนจน) และวนิพก (ขอทาน) พวกทาสและพวกยาจกวนิพก