หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/152

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๗๙ 

คราวนี้เรื่องก็มีต่อไปว่า ถ้าคนไม่มีเงินรัชชูปการเสียจะว่าอย่างไร? ตามอัตรา ๑๐ ของ พ.ร.บ. เงินรัชชูปการ พ.ศ. ๒๔๖๘ กล่าวว่าให้มีหมายเกาะกุมเอาตัวมาสอบสวนแล้วให้ทำประกันด้วยหลักทรัพย์เท่ากับจำนวนเงินรัชชูปการที่ค้างชำระ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำมาชำระภายใน ๑๕ วัน ถ้ามิฉะนั้นก็จะปฏิบัติตามข้อ ๓ แห่งมาตรา ๑๐ กล่าวคือ

"ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างเงินรัชชูปการออกขายทอดตลาดเพื่อใช้เงินรัชชูปการกับค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติลักษณะวิธีพิจารณาความแพ่งฯ ร.ศ. ๑๒๗"

ถ้าปฏิบัติตามนั้นไม่ได้ ก็ต้องปฏิบัติขั้นต่อไป คือ ตามข้อ ๔ (อนุมาตรา-แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๓) กล่าวคือ

"ให้มีนายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งให้เอาตัวผู้นั้นใช้งานโยธาของหลวงมีกำหนดตามจำนวนปี ที่เงินรัชชูปการค้างปีละ ๑๕ วัน แต่ไม่เกิน ๓๐ วัน ในระหว่างทำงานโยธานั้นผู้ไม่เสียเงินรัชชูปการจะต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานและกักตัวไว้ให้อยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ซี่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดให้และให้จ่ายอาหารของหลวงเลี้ยงชีพ"

ข้อที่จะลืมกล่าวเสียไม่ได้ก็คือ เจ้าพนักงานผู้ทำการสำรวจเก็บเงินจะได้ส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่เกินอัตราร้อยละ ๕ ของเงินที่เก็บได้! (ม. ๑๓ พ.ร.บ. ลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ พ.ศ. ๒๔๖๒)

"ฝ่ายชาวต่างประเทศที่อยู่ในเมืองไทย" ซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีน ก็ต้องใช้แรงหรือเสียส่วยเช่นกันโดยกำหนดให้ ๓ ปี เรียกส่วยครั้งหนึ่ง ส่วนมากชาวจีนมักยอมเสียส่วย เมื่อเสียแล้วก็มีปี้ผูกข้อมือไว้ให้เป็นสำคัญ จึงเรียกกันว่าเงินผูกปี้ วิธีเก็บมีดังนี้