หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/155

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๘๒  โฉมหน้าศักดินาไทย

เรียกสิ่งของที่จำเป็นใช้ในราชการแทนแรง เช่น เรียกดินประสิวทำดินปืน เรียกดีบุกทำลูกปืน๑๐๓ ที่จริงนั่นเป็นความจริงผิวเผินเพียงด้านเดียว แต่อีกด้านหนึ่ง ส่วยเป็นของที่กษัตริย์พยายามเร่งรัดเกณฑ์เอาให้ได้เพื่อขนลงสำเภาไปขายต่างประเทศ เรือค้าหรือการค้าสำเภาของกรมท่าอันเป็นการค้าผูกขาดของกษัตริย์แต่โบราณมาเป็นการค้าของส่วยทั้งนั้น ถ้าของส่วยไม่พอจึงซื้อ กษัตริย์ชอบค้าของส่วยมากกว่าของซื้อเพราะของส่วยไม่ต้องลงทุน!!๑๐๔

รายได้ของรัฐบาลศักดินาจากส่วยนี้ เป็นรายได้จำนวนมหึมามหาศาลทีเดียว ตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์จดไว้ ปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ รายได้ของกษัตริย์ที่ได้จากเงินส่วยมีดังนี้ :

ค่าแรงแทนรับราชการ (ทุกปี) ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
เงินผูกปี้ข้อมือจีน (๓ ปีครั้ง) ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ค่าภาคหลวงบ่อทองบางตะพาน ๑๐,๐๐๐ บาท
ผลประโยชน์ส่งจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๕๐,๐๐๐ บาท
รวม ๑๔,๑๐๐,๐๐๐ บาท

ทั้งนี้ไม่รวมส่วยสิ่งของที่ขนลงสำเภาอีกเป็นจำนวนมากมายในแต่ละปี

โดยปกติ หัวเมืองต่างๆ มักส่งส่วยไม่ทันกำหนดพอกษัตริย์เร่งเกรี้ยวลงไป พวกพนักงานก็เร่งลงอาญากับไพร่หรือเลกอีกทอดหนึ่ง "ก็ธรรมดาของการเร่งเงินนั้นย่อมต้องเอาตัวพวกลูกหนี้มาบังคับเรียกเอาเงินบางทีก็ถึงต้องกักขังควบคุม คงต้องทำให้คนเดือดร้อนมากบ้างน้อยบ้าง"๑๐๕ แต่ทั่วๆ ไปแล้ว ล้วนก็ต้องเดือดร้อนกันมากๆ เสียทั้งนั้น เงินส่วยที่ติดค้างนี้ แม้พวกเจ้าขุนมูลนายและเจ้าพนักงานจะเร่งรัดทารุณอย่างไร ไพร่ก็