ยังคงยอมทนอาญาขอค้างเงินอยู่นั่นเอง ทั้งนี้เพราะยากจนด้วยกันทั้งสิ้น มาถึงรัชกาลที่ ๕ เงินส่วยสั่งสมถมทับกันจนแทบจะสางบัญชีไม่ถูก รัชกาลที่ ๕ จึงตั้งกรมเงินส่วยขึ้น ๒ กรม อยู่ในกระทรวงกลาโหมกรมหนึ่ง ในกระทรวงมหาดไทยกรมหนึ่ง สำหรับเร่งเงินส่วยตามหัวเมืองส่งพระคลังมหาสมบัติ แต่พวกศักดินารู้เสียแล้วว่าถึงจะเร่งรัดอย่างไรก็คงไม่ได้เงิน และซ้ำจะก่อให้เกิดความเคียดแค้นเกลียดชังจึงใช้วิธีล่อด้วยส่วนลด กล่าวคือถ้าใครชำระหมดจะลดให้ครึ่งหนึ่งทีเดียว ผู้ที่ค้างเงินเห็นเป็นช่องทางที่จะปลดหนี้ปลดอาญาที่เกาะกุมตัวก็พากันมาเสียส่วย เพราะทางหัวเมืองเหนือภาคเดียวได้เงินมาโดยวิธีลดครึ่งนี้ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท "เวลานั้นยังไม่ใช้ธนบัตร ได้เป็นเงินบาททั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องให้หาเรือลำหนึ่งบรรทุกเงินลงมาถวายกรมพระนราฯ (เสนาบดีกระทรวงพระคลังขณะนั้น[a]–ผู้เรียบเรียง) ก็ทรงยินดี" (กรมดำรงฯ เทศาภิบาล น.๘๙)
เงินแทนแรงหรือที่ยักกระสายเรียกกันว่า ค่าราชการหรือรัชชูปการนี้ ในรัชกาลหลังๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนลดลงเพราะลดราคาลงเหลือเพียง ๖ บาท แต่ก็ยังนับว่าเป็นรายได้รองลงมาจากอากรค่านา ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ รัฐบาลศักดินาเก็บอากรค่านา ได้กว่า ๗ ล้านบาท ขณะเดียวกันเงินรัชชูปการก็เก็บได้ถึง ๗,๗๔๙,๒๓๓ บาท ถ้าเราจะเทียบกับรายได้ทั้งสิ้นของรัฐบาลศักดินาใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งมีจำนวน ๘๕,๕๙๕,๘๔๒ บาท จะเห็นได้ว่าเงินรัชชูปการเป็นรายได้ที่มากเกือบ ๙% ของรายได้ทั้งหมดของคณะกรรมการจัดการดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินา ยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยแล้ว รายได้ทั้งหมดของ
รัชกาลที่ ๔ ตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์จดไว้ว่ามีปีหนึ่งเฉลี่ยราว ๒๖,๙๖๔,๑๐๐ บาท
- ↑ ที่จริงเป็นรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ