คอร์รัปชั่น ความจริงได้มีอยู่อย่างเละเทะทีเดียวหากแต่มักจะเป็นการคอร์รัปชั่นที่ถูกกฏหมายเสียเท่านั้น
สรุปว่า ในระบบศักดินานั้น ค่าฤชาหรือธรรมเนียมเป็นการขูดรีดที่พวกศักดินากระทำต่อพวกไพร่อีกชั้นหนึ่งต่อจากภาษีอากรต่างๆ ตลอดจนเงินกินเปล่า นับเป็นการขูดรีดชั้นที่ ๒-๓
การขูดรีดในชั้นค่าฤชานี้ กษัตริย์และขุนนางมีผลประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ ในการเรียกค่าธรรมเนียมนั้น ส่วนหนึ่งเรียกเข้าคลังหลวง เช่น ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่เรียกเข้ากระเป๋าของขุนนาง ประชาชนในสมัยศักดินาจึงได้จนกันอานแทบทุกคน ยกเว้นชนชั้นศักดินาไม่กี่คน!
จากสถิติเท่าที่หาได้ รายได้ของรัฐบาลศักดินาในด้านค่าฤชาเฉพาะเงินค่าธรรมเนียมความอย่างเดียว ๑๕,๐๐๐ บาทต่อปี ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใดที่เข้าคลังหลวง และกี่เท่าที่เข้ากระเป๋าของขุนนางศักดินา!
๓) จังกอบ
คือการเก็บชักส่วนสินค้า เมื่อจะขนส่งเข้าออกหรือเมื่อทำการขาย พูดง่ายๆ ก็คือภาษีสินค้า ผิดกับอากรตรงที่อากรเป็นภาษีเก็บจากผลิตผลที่ทำได้ จังกอบเก็บทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่ว่าจะต้อนฝูงควายไปขายหรือค้าสำเภา ลักษณะของการเก็บจังกอบก็คือ "สิบหยิบหนึ่ง" นั่นคือสิบชักหนึ่งหรือร้อยละสิบ ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวงมีอธิบายไว้ว่า "แลจะเก็บจังกอบในสำเภานาวาเรือใหญ่เรือน้อยก็ดี หนบก หนเกวียน หนทางอันจะเข้าถึงขนอนใน ท่านให้นับสิ่งของจนถึงสิบ ถ้าถึงสิบไซร้ ท่านจึงให้เอาจังกอบนั้นหนึ่ง ถ้ามิถึงสิบไซร้ ท่านมิให้เอาจังกอบนั้นเลย"