หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/162

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๘๙ 

การเก็บจังกอบอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเก็บควบไปกับการเก็บจังกอบสินค้า ก็คือ เก็บเงินเป็นอัตรา ตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้ามา เช่นในสมัยพระนารายณ์ เก็บจังกอบตามขนาดเรือ คือ วัดความยาววาละหนึ่งบาท และได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยว่า ถ้าเรือลำใดปากกว้างกว่า ๖ ศอก ถึงแม้จะยาวไม่ถึงหกวา ก็ให้เก็บจังกอบ ๖ บาท เป็นอันว่า ผู้ค้าขายต้องเสียสองต่อ คือ เสียภาษีสินค้าภายในเรือด้วย เสียภาษีปากเรือด้วย

จังกอบสินค้าเก็บทั้งสินค้าเข้าและสินค้าออก และเก็บทั้งเป็นภาษีสินค้าภายในด้วย อัตราที่เก็บขาเข้าไม่เท่ากับขาออก และมีอัตราไม่เท่ากันเสมอไป เช่นในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า (หน้า ๒๖๑) เล่าว่า "ถ้าเป็นเมืองที่มีทางพระราชไมตรี และไปมาค้าขายกันไม่ขาดแล้ว เก็บภาษีตามราคาสินค้าเข้าร้อยชักสาม ค่าปากเรือกว้าง ๔ วาขึ้นไป เก็บวาละ ๑๒ บาท ไม่ลดราวาศอก ถ้าสินค้าที่เข้ามาเป็นสินค้าที่กษัตริย์มีความประสงค์ ก็ไม่เก็บภาษีสินค้าเข้า เก็บแต่ค่าปากเรืออย่างเดียว"

"เมื่อรัฐบาลตั้งพระคลังสินค้า ทำการค้าขายเสียเอง สินค้าขาเข้าในส่วนที่รัฐบาลเลือกซื้อไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๐ น. ๓๓) ในส่วนสินค้าออกซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ขาย ก็น่าจะไม่ต้องเสียภาษีในทำนองเดียวกัน" (ตำนานศุลกากร, พระยาอนุมานราชธน น.๕๑)

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จอห์น ครอเฟิด จดไว้ว่า ภาษีสินค้าขาเข้า เก็บร้อยละแปดจากราคาสินค้าที่นำเข้ามา ส่วนภาษีปากเรือเก็บอัตราต่างๆ กัน แล้วแต่เป็นของชาติใด และจะไปเมืองใด เบาว์ริงจดไว้ว่า เรือใบทะเลเก็บวาละ ๘-๔๐ บาท เรือสำเภาใหญ่เก็บวาละ ๘๐-๒๐๐ บาท