ละกี่ถังยังค้นไม่พบ แต่มาภายหลังได้เปลี่ยนมาเก็บเงินแทนข้าว ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เรียกเก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ตลอดไม่มีข้อแม้
เดิมทีเดียวนั้น การเก็บอากรค่านาหรือหางข้าวนี้เรียกเก็บเฉพาะที่นาที่ได้ทำนามีผลประโยชน์ ที่ใดที่มิได้ทำนาก็ยกเว้นไม่เก็บ การยกเว้นไม่เก็บอากรในที่นาที่มิได้ทำประโยชน์นี้ หาได้มีประโยชน์แก่ไพร่หรือประชาชนไม่ ทั้งนี้เพราะประชาชนหรือไพร่ทั่วไปที่มีที่ดินจำนวนจำกัดเพียง ๕ ไร่ ๑๐ ไร่ หรือ ๑๕ ไร่ ต่างทำนาของตนด้วยมือของตนทุกคน เขาไม่อาจไปจับจองนา สวาปามไว้เป็นกรรมสิทธิเกินอัตราศักดินาได้ มีแต่พวกเจ้าที่ดินที่มีศักดินามากมายไพศาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากวิธีการเก็บภาษีโดยเรียกเก็บแต่เฉพาะที่ได้ทำนา พวกเจ้าขุนมูลนายทั้งปวงสวาปามที่ดินเอาไว้มาก มีกำลังทาสของตนเองน้อย กำลังไพร่ที่เที่ยวบังคับเที่ยวเกณฑ์มาก็ไม่พอเพียงที่จะทำนาให้ทั่วถึงได้ทุกปี บางปีก็ทำได้ตลอด บางปีก็ทำได้ไม่ตลอดแต่ต้องเสียภาษีอากรรวดทุกไร่ ตามจำนวนที่ดินที่ปรากฏในโฉนด พวกนี้ก็รู้สึกว่าตนเดือดร้อน การลดหย่อนอากรค่านาที่กษัตริย์ยอมลดให้ จึงมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นศักดินาด้วยกันเอง ถ้าไพร่หรือประชาชนได้รับผลประโยชน์บ้างจากการลดหย่อนนี้ก็เป็นการพลอยฟ้าพลอยฝนที่น้อยเต็มที
โดยการลดหย่อนอากรให้แก่เจ้าที่ดินเช่นนี้ กษัตริย์จึงต้องแต่งตั้งข้าหลวงเสนาออกไป "เดินนา" นั่นคือออกสำรวจเพื่อจะได้ลงบัญชีแน่นอนว่าเจ้าขุนมูลนายไหนได้ทำไปจำนวนกี่ไร่ เนื้อที่ที่ปลูกข้าวจริงๆ มีเท่าใด การเดินนานี้เรียกหลายอย่าง บ้างก็เรียกว่า "รังวัดนา" บ้างก็เรียกว่า "ประเมินนา" เจ้าพนักงาน