เกณฑ์แล้วทำรังวัดเนื้อที่เก็บอากรตามนั้น นาพวกนี้ส่วนมากเป็นนาของพวกไพร่ ทำได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ทางกรมนาของกษัตริย์จะออกเพียง "ใบจอง" ให้ชั่วคราว ถ้าหากทำไม่ได้สามปีติดๆ กัน กรมนาก็หาว่าเกียจคร้านรับนาคืนเข้าเป็นของหลวง ชีวิตของพวกไพร่เจ้าของนาน้ำฝนฟางลอย จึงลอยตุบป่องตามน้ำฝน
เมื่อชีวิตขึ้นอยู่กับน้ำฝนก็ทำให้เกิดมีประเพณีการแห่นางแมวขอฟ้าขอฝนขึ้นในหมู่พวกไพร่ที่ทำนาทั่วไป ทางฝ่ายกษัตริย์นั้นมีหน้าที่เพียงมาตรวจดูว่าไพร่ทำนาได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็เหมาเอาว่าขี้เกียจ ริบนาคืนไป การช่วยเหลือชาวนาของพวกศักดินาอย่างมากก็เพียงชักชวนให้ทำพิธีขอฝน กษัตริย์จะแสดงพระมหากรุณาธิคุณโดยส่งพระพุทธรูปปางขอฝนเรียกว่าพระคันธาราษฏร์ ออกไปตามหัวเมืองต่างๆ สำหรับนำออกมาทำพิธีขอฝน เรียกว่า พิธีพิรุณศาสตร์ ถ้าปีฝนแล้งทำนาไม่ได้ ก็มักจะโทษเอาว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ทำพิธีพิรุณศาสตร์กันอย่างทั่วถึง พระเจ้าเลยไม่โปรด ไม่ใช่ความผิดของกษัตริย์ที่ไม่เอาใจใส่ทำการทดน้ำ ขุดคลองทำชลประทาน ประชาชนเลยหลงไปฝากชีวิตไว้กับเทวดาฟ้าดิน เมื่อฝนไม่ตกก็เท่ากับฟ้าดินไม่โปรดเป็นเพราะวาสนาตัวไม่ดีเอง โทษใครไม่ได้!
"ประเพณีในประเทศนี้ ถ้าเวลาใดฝนฟ้าบกพร่องขาดแคลน ย่อมเชิญพระพุทธปฏิมาคันธารราษฏร์ออกประดิษฐานในที่มณฑล ทำโรงพิธีสวดคาถาพระบาลีอธิษฐานขอฝน การพิธีอันนี้ยังหาสามารถทำได้ทั่วทุกจังหวัดในพระราชอาณาเขตไม่ เพราะเหตุตามจังหวัดหัวเมืองยังไม่มีพระพุทธรูปปฏิมาคันธารราษฏร์ สำหรับการพิธีขอฝนอยู่โดยมาก ในปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๘–ผู้เรียบเรียง) ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อสร้างพระพุทธปฏิมา