เงินแทนเก็บหางข้าว อัตราที่เก็บก็คือเก็บไร่ละสลึง เมื่อเก็บเช่นนี้ ทำให้ประชาชนไม่ต้องขนข้าวมาส่งฉางหลวง...อย่าคิดว่า ประชาชนจะสบายขึ้น...เพราะ...ยังเก็บเงินแทนค่าขนข้าวขึ้นฉางหลวงซึ่งไม่ต้องขนแล้วนั้นอีกไร่ละเฟื้อง รวมเป็นสลึงเฟื้ องคือ ๓๗ สตางค์ หนักข้อขึ้นไปกว่าสมัยพระนารายณ์ และการเก็บก็เก็บดะทั้งนาคู่โคและนาฟางลอย พวกไพร่ที่ทำนาฟางลอยจึงเดือดร้อนกันทั่วทุกหัวระแหงจนเกิดการร้องทุกข์กันขึ้น พวกนาคู่โคก็ร้องทุกข์บ้างเพราะเหตุที่ตัวต้องเสียภาษีอากรตามจำนวนไร่รวด ไม่มีการเว้นว่าเก็บเฉพาะที่ได้ไถได้ทำ "ที่เป็นไพร่หลวงฝีพายแลพวกพ้องของพวกฝีพายมาเข้าชื่อถวายฎีกากันในกรุงเทพฯ บ้าง...บางทีก็โปรดให้ยกให้ลดให้แต่ไพร่หลวงกรมฝีพายที่ลงมารับราชการ บางทีก็โปรดให้ประเมินเรียกเอาแต่ตามที่ได้ทำ บางทีก็โปรดลดให้ไร่ละเฟื้องเสมอไปในปีหนึ่งนั้น" (ประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับเดียวกับที่อ้างมาข้างต้น) เมื่อเป็นดังนี้ก็เกิดมีอภิสิทธิขึ้น พวกไพร่หลวง ฝีพาย ก็รอดตัวสบายไป พวกไพร่ราบไพร่เลวยาจกยากจนก็ต้องก้มหน้าทนให้ขูดรีดต่อไป
ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ การเก็บอากรไร่ละสลึงเฟื้องรวดนั้นทำให้พวกนาคู่โคทั้งปวงร้องทุกข์กันอีกว่าเสียเปรียบนาฟางลอย เพราะตัวต้องเสียอากรทั้งนาที่ทิ้งเปล่าๆ ไม่ได้ทำ นาฟางลอยเสียแต่เฉพาะที่ได้ทำในแต่ละปี เสียงร้องของพวกนาคู่โคนี้ที่ตั้งอื้ออึงก็ด้วยการหนุนการให้ท้ายของพวกเจ้าที่ดิน ซึ่งตนต้องกระทบกระเทือนผลประโยชน์ นับว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนเจ้าของนาคู่โคที่มีอยู่บ้างก็ถูกเจ้าที่ดินฉกฉวยไปใช้เสียสบายอารมณ์ รัชกาลที่ ๔ เห็นจะสู้กำลังประชาชนและเจ้าที่ดินไม่ไหวก็เลยยอมลดค่านาให้แก่พวกนาคู่โค คือลดลงเป็นไร่ละสลึง เมื่อพ.ศ. ๒๓๙๘