ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/178

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๒๐๕ 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกเจ้าขุนมูลนาย เจ้าที่ดินใหญ่ไม่มีที่นาอยู่ในแดนกันดารเช่นนั้น เสียงของชาวนาถึงถูกกดลงและลืมเสีย ส่วนในพื้นที่นาลุ่ม (นาคู่โค) พวกเจ้าของที่ดินใหญ่ต่างได้ครอบครองที่ดินไว้มากมายแทบทุกคน พอชาวนายากจนร้องทุกข์ขึ้นพวกนี้ ก็สวมรอยเข้าใช้ความไหวตัวของชาวนาให้เป็นประโยชน์ ทางฝ่ายชาวนายากจนก็ติดข้องอยู่กับการพึ่งบารมีตัวบุคคล ต่างก็ถือว่ามีเจ้าขุนมูลนายหนุนหลัง มีบารมีคุมกบาลหัวอยู่ จึงไม่ค่อยหวาดกลัว ได้เรียกร้องเคลื่อนไหวกันยกใหญ่ รูปของการเคลื่อนไหวจึงเป็นไปโดยที่ชาวนามองข้ามกำลังของตนเอง คิดอยู่แต่ว่าที่กษัตริย์ต้องอ่อนข้อก็เพราะพวกตัวมีเส้นใน มีเจ้าขุนมูลนายหนุนหลัง แล้วก็เลยปล่อยให้พวกเจ้าที่ดินและเจ้าขุนมูลนายฉกฉวยเอากำลังมหึมาของพวกตนไปใช้เสียอย่างลอยชาย!

อากรค่านาเป็นอากรสำคัญขั้นเส้นเลือดใหญ่ของชีวิตชนชั้นศักดินา ฉะนั้นจึงได้รับการเอาใจใส่ คอยดูแลเพิ่มอัตราและปรับปรุงวิธีเก็บอยู่เสมอ จนในที่สุดถึงรัชกาลที่ ๖ มีอัตราอากรค่านาดังนี้

นาคู่โค

นาเอก ไร่ละ ๑.๐๐ บาท
นาโท ไร่ละ ๐.๘๐ บาท
นาตรี ไร่ละ ๐.๖๐ บาท
นาจัตวา ไร่ละ ๐.๔๐ บาท
นาเบญจ ไร่ละ ๐.๓๐ บาท

นาฟางลอย

นาเอก ไร่ละ ๑.๐๐ บาท
นาโท ไร่ละ ๐.๘๐ บาท
นาตรี ไร่ละ ๐.๖๐ บาท