ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/187

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๒๑๔  โฉมหน้าศักดินาไทย

กล่าวคือมีสตรีที่ทนต่อสภาพความอดอยากยากแค้นไม่ได้ต้องขายตัวกันมากมาย ยิ่งในสมัยที่พวกชาวยุโรปเข้ามาค้าขายในกรุงฯ พวกนี้จ่ายเงินไม่อั้น จึงเป็นการยั่วยุให้ผู้หญิงที่หาทางออกของชีวิตไม่ได้หันมายึดอาชีพนี้กันมากขึ้น ในปลายสมัยอยุธยาผู้หญิงที่เคราะห์ร้ายต้องกัดฟันหลับหูหลับตาขายตัวกับพวกชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจนเลื่องลือ ฝ่ายศักดินาก็มิได้มองหาทางแก้ไข เพราะเห็นว่าเป็น "สันดาน" อันร่านของผู้หญิงเอง คงคอยเก็บแต่ภาษี พวกที่ทนภาษีไม่ไหวก็ลักลอบขายตัวกันลับๆ เป็นครั้งคราว รัฐบาลศักดินาเห็นว่าทำให้ตนเสียผลประโยชน์ จึงออกพระราชกำหนดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๖ มีความว่า "แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ไทย มอญ ลาว ลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วย แขก ฝรั่ง อังกฤษ คุลา มลายู ซึ่งถือเป็นฝ่ายมิจฉาทิฐิ (พวกนอกศาสนาพุทธ) เพื่อจะมิให้ฝูงทวยราษฎร์ไปสู่อบายทุกข์... ถ้าผู้ใดมิฟังลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วยผู้ถือมิจฉาทิฐิ พิจารณาสืบสาวจับได้...เป็นโทษถึงสิ้นชีวิต ฝ่ายพ่อแม่ญาติพี่น้องซึ่งมิได้กำชับห้ามปรามเป็นโทษด้วยตามใกล้แลไกล" (พระราชกำหนดเก่า ๕๕)

เป็นอันว่าถ้าเป็นโสเภณีซ่องเสพกับไทยด้วยกันเป็นของถูกต้องดีอยู่แล้วไม่ถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิผิดหลักศาสนา เพราะเป็นพุทธด้วยกัน!

รัฐบาลศักดินาได้ผลประโยชน์จากภาษีโสเภณี ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินมิใช่น้อยตามที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์จดไว้ ปรากฎว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ เก็บภาษีโสเภณีได้ถึงปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท

"อากรฝิ่น" อากรฝิ่นนี้เป็นอากรใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ จำนวนอากรที่ได้รับจากการผูกขาดของเจ้าภาษีนั้นปี หนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินถึง ๒,๐๐๐ ชั่ง (๑๖๐,๐๐๐ บาท) ถ้าเป็นปีอธิกมาส