ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/21

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๔๘  โฉมหน้าศักดินาไทย

รูปแบบทางการเมืองของสังคมศักดินา

ไม่ต้องสงสัย สถาบันทางการเมืองของศักดินาทั้งมวลย่อมมีสภาพเป็นสถาบันของพวกศักดินา, เป็นสถาบันที่พวกศักดินาจะใช้อํานาจของพวกตนผ่านลงมาเพื่อกําหนดสิทธิและหน้าที่ของชนชั้นทาสกสิกรที่พึงมีต่อตน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นสถาบันที่ดูแลผลประโยชน์ กล่าวคือแสวงหาผลประโยชน์ และรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าที่ดินแต่ฝ่ายเดียว รัฐบาลของศักดินาจึงเป็นคณะกรรมการรักษาผลประโยชน์ของพวกชนชั้นเจ้าที่ดินโดยตรง

ประธานของคณะกรรมการรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นเจ้าที่ดินย่อมตกอยู่แก่ผู้ที่มีอํานาจในที่ดินมากที่สุด หรือไม่ก็เป็นตัวแทนของผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดินเป็นปริมาณมหาศาลที่สุด ตําแหน่งประธานนี้ก็คือ ที่เราเรียกกันว่า "กษัตริย์" หรือ "พระเจ้าแผ่นดิน" ถ้าจะแปลโดยศัพท์แล้ว "กษัตริย์" ก็คือ "ผู้มีที่ดิน" หรือ "ผู้ครอบครองผืนดิน" ต้นรากของคํานี้ ก็คือคําว่า "เกษตร" อันหมายถึงที่ดินเพาะปลูก คําว่า "ขัตติยะ" ก็มีต้นรากมาจากคําว่า "เขตต์" ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แม้คําไทยๆ ที่ว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" ก็แปลได้ว่า "พระผู้เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินทั้งมวล" นั่นเอง และเนื่องด้วยกษัตริย์เป็นผู้กําเอาชะตาชีวิตของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรม กษัตริย์จึงได้รับการเรียกขานกันอีกอย่างหนึ่งคือ "เจ้าชีวิต" ซึ่งแปลว่าเจ้าของชีวิตของประชาชน นี่คือคําเรียกขานตําแหน่งประธานของคณะกรรมการรักษาผลประโยชน์ของพวกชนชั้นเจ้าที่ดิน!

การเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินของท่านประธานคณะกรรมการดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดมีการประกาศโอนที่ดินทั้งมวลเป็นของท่านประธานแต่ผู้เดียว กล่าวคือแผ่นดินทั้งมวล เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน