ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/41

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๖๘  โฉมหน้าศักดินาไทย

ของนโปเลียนที่ ๓ และระบบมหาชนเป็นระบบที่ตัดศาสนาออกไปจากการเมืองโดยเด็ดขาด ใครจะบวชใครจะสึกไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล หากเป็นเรื่องของเอกชน รัฐไม่สนับสนุนและก็ไม่ทําลาย พวกพระจึงไม่ชอบเป็นธรรมดา ในยุคหลังจากนั้น พวกพระยังสมคบเป็นกําลังให้พวกศักดินาฝรั่งเศสทําการต่อสู้อย่างยืดเยื้อทรหดมาเป็นเวลาอีกหลายปี

ในบางประเทศที่ชนชั้นกลางได้รับบทเรียนอันนี้ ท่าทีของศาสนาจะเปลี่ยนไป ทั้งนี้ เพราะชนชั้นกลางทุ่มเทเงินให้แก่การศาสนาเพื่อซื้อศาสนาไว้ จึงมีส่วนหนึ่งของพวกนักบวชที่เห็นดีเห็นงามกับชนชั้นกลาง แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่ยังคงยึดมั่นในจริยธรรมเก่า, ยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อศักดินา ก็ยังคงสนับสนุนศักดินาต่อไป ความขัดแย้งภายในวงการศาสนาเองจึงเกิดขึ้นในตอนปลายยุคศักดินาต่อกับทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี โดยทั่วไปแล้วศาสนาก็ยังคงเป็นแหล่งที่รักษาซากเดนความคิดศักดินาไว้ได้นานที่สุด เพราะจริยธรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในศาสนาส่วนมากได้ถูกดัดแปลงจนเหมาะสมที่จะรับใช้ชนชั้นศักดินาแล้วทั้งสิ้น

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น คือลักษณะโดยทั่วไปของระบบศักดินา ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเพียงบทสรุปอย่างคร่าวๆ สําหรับใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาสังคมศักดินาของไทยในอันดับต่อไป

อนึ่ง การที่จะเข้าใจระบบศักดินา และบทบาทของระบบศักดินาในประวัติศาสตร์ได้แจ่มแจ้ง โดยมิได้เข้าใจถึงกําเนิดของมันอันต่อเนื่องมาจากระบบทาสนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทําความเข้าใจอย่างคร่าวๆ ในอันดับต่อไปนี้ ก็คือ กําเนิดของระบบศักดินาโดยทั่วไป