หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/52

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๗๙ 


เมื่อพวกเสรีชนเข้ามาพึ่งพาใบบุญของเจ้านายผู้มีป้อมปราการ ความสัมพันธ์ใหม่ก็เกิดขึ้น นั่นคือ พวกเสรีชนต้องส่งผลิตผลและส่วยให้แก่เจ้านาย, ต้องออกแรงช่วยเจ้านายสร้างป้อมปราการ และช่วยเจ้านายทําไร่ไถนา (นั่นคือระบบงานเกณฑ์) ทั้งนี้ เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนบุญคุณที่เจ้านายช่วยพิทักษ์ความปลอดภัย ความจริงแล้วเจ้านายก็หาได้พิทักษ์ความปลอดภัยให้โดยตรงไม่ เพราะเมื่อมีการรุกรานพวกเจ้านายก็เกณฑ์เสรีชนเหล่านั้นนั่นเองไปช่วยกันปกป้อง เช่น หมู่บ้านอำแดงสีถูกรุกราน เจ้านายก็เกณฑ์กำลังของหมู่บ้านอำแดงอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ความพิทักษ์ของตนไปช่วยป้องกันอำแดงสี เจ้านายผู้เป็นเจ้าของป้อมเป็นเพียงผู้นำเท่านั้น ที่พิเศษอยู่หน่อยก็ตรงที่ป้อมของเจ้านายนั้นใหญ่โต ถ้าเกิดศึกใหญ่ พวกเสรีชนก็อพยพผู้คนเข้าไปหลบภัยได้เท่านั้น นี่ก็คือธรรมเนียมการอพยพคนเข้าเมืองเวลามีศึกของยุคศักดินา

โดยลักษณะนี้ พวกเสรีชนที่ทํางานบนผืนดินโดยรอบป้อมปราการก็กลายเป็นคนในสังกัดของเจ้าของป้อม เมื่อเปลี่ยนตัวเจ้าของป้อม พวกเสรีชนก็เปลี่ยนนายใหม่ มีหน้าที่จัดส่งส่วยให้เจ้านายในป้อมเช่นเดิมต่อไป สภาพของพวกนี้ก็เลยกลายเป็นคนทํางานบนผืนดินอันอยู่ในอำนาจของเจ้านาย นั่นก็คือมีสภาพเป็นทาสกสิกร หรือ เลก (Serf) ต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนในสังกัด ย้ายสังกัดไม่ได้ ย้ายที่ทํากินก็ไม่ได้ การขูดรีดจึงกลายเป็นการขูดรีดระหว่างเจ้านาย คือ เจ้าขุนมูลนายกับทาสกสิกรหรือเลก พวกเลกแม้จะถูกขูดรีดอย่างหนักแต่ก็ยังเป็นไทแก่ตัว พวกเจ้าขุนมูลนายจะขายจะฆ่าจะข่มเหงดังยุคทาสไม่ได้ นี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าของสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นลักษณะอันก้าวหน้าของระบบศักดินาที่สถาปนาขึ้นใหม่นั่นเอง ยิ่งกว่านั้นพวกเลกยังต่างจากทาสที่มีเครื่องมือในการทํามาหากิน