หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/53

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๘๐  โฉมหน้าศักดินาไทย

เป็นของตนเอง สามารถสะสมผลิตผลของตนเองได้ ทําให้มีจิตใจในการผลิตมากขึ้น การผลิตและเทคนิคจึงพัฒนาไปได้อีกระดับหนึ่ง ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นที่ว่าด้วยลักษณะของระบบเศรษฐกิจศักดินา

การแผ่ขยายเขตแดนของพวกเจ้าขุนมูลนาย ทําให้เกิดชาวนาขึ้นอีกประเภทหนึ่งคือชาวนาที่มีที่นาของตนเองเป็นอิสระ และเสียผลิตผลเป็นอัตราภาษีให้แก่เจ้าขุนมูลนาย ที่ดินของเจ้าขุนมูลนายบางผืนก็แบ่งออกให้คนเช่าทํามาหากิน โดยเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตกลงกัน ระบบผลิตศักดินาจึงพัฒนาถึงขั้นสมบูรณ์คือมีครบทั้งเลกทั้งชาวนาเอกระ (ทํานาของตนเอง) และชาวนาเช่าที่ และนอกจากนี้ ยังมีเสรีชนที่ไม่มีที่ดินใช้แรงกายเข้ารับจ้างทํานาอีกพวกหนึ่งอันเป็นชาวนาลูกจ้าง

พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้แหละคือเจ้าขุนมูลนายของระบบศักดินาที่เรียกกันว่า Feudal Lords พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ขนาดย่อม ต้องหันเข้าไปพึ่งใบบุญเจ้าขุนมูลนายที่ใหญ่โตกว่าขึ้นไป เจ้าขุนมูลนายที่โตกว่าขึ้นไปก็ต้องหันเข้าพึ่งเจ้าขุนมูลนายชั้นที่โตกว่าขึ้นไปเป็นทอดๆ ที่ว่าพึ่งนี้ มิใช่อยู่ดีๆ ก็หันไปพึ่งกันง่ายๆ หากต้องพึ่งเพราะหวาดกลัวว่า ถ้าเฉยอยู่เจ้าขุนมูลนายที่เข้มแข็งกว่าจะรุกรานเอา เรียกว่าพวกเหล่านี้ถูกอํานาจรุกรานเอาโดยตรงบ้าง ถูกกลิ่นอายของอํานาจบาตรใหญ่ข่มขู่ให้หวาดกลัวบ้าง ในที่สุดก็ต้องรวมกับเจ้าขุนมูลนายใหญ่ที่สุดอันได้แต่ราชะหรือกษัตริย์

แรกๆ พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ ก็ยังคงเกะกะระรานไม่ค่อยอ่อนน้อมค้อมหัวให้แก่ราชะนัก เพราะต่างก็เป็นเจ้าที่ดินใหญ่ๆ กันทั้งนั้น การกระทําใดๆ ของราชะที่ขัดกับผลประโยชน์ของตน ตนก็ขัดขืนท้าทาย ท้ายที่สุดราชะก็เลยรวบอํานาจริบที่ดินเป็นของราชะ