หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/56

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๘๓ 

Suzerain (อธิราช) ก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Liegelord อันแปลว่า "เจ้านายผู้ใหญ่" เป็นคู่กัน

ในการมอบที่ดินและรับมอบที่ดินนั้น มีพิธีอยู่ ๒ พิธี พิธีแรกเรียกว่า Investiture อันแปลว่า "การมอบสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน" พิธีนี้ เป็นพิธีที่กษัตริย์ทําเพื่อมอบที่ดินให้พวกสามนตราชไปทํามาหากิน ในพิธีนี้ กษัตริย์จะให้คําสัญญาว่าจะคุ้มกันภัยให้เสมอไป ส่วนอีกพิธีหนึ่งเรียกว่าพิธี Homage๑๔ อันแปลว่า "การเคารพนบนอบและรู้จักบุคคลผู้เป็นนาย" พิธีนี้เป็นพิธีที่สามนตราช (Vassal) กระทําต่อกษัตริย์ ในพิธีนี้กษัตริย์จะประชุมบริวารของตนมาเป็นองค์พยาน สามนตราชผู้จะได้รับมอบที่ดินจะต้องคุกเข่าลงท่ามกลางข้าราชบริพาร ประสานมือของตนวางลงบนมือของกษัตริย์ แล้วให้สัตย์สาบานว่าตนจะซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์ตลอดไป ฝ่ายกษัตริย์จะมอบธง ไม้เท้าอาญาสิทธิ์และโฉนดที่ดิน หรือไม่ก็กิ่งไม้หรือก้อนดินให้แก่สามนตราชเป็นเครื่องหมายสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตนมอบให้ พิธีนี้ก็ลงเป็นรอยเดียวกับพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสาบานตัวของเจ้าเมืองและข้าราชการในเมืองไทย ไม้เท้าอาญาสิทธินั้นในเมืองไทย เขมรและลาวใช้ดาบเรียกว่า พระแสงอาญาสิทธิ์ (ซึ่งได้ฟื้นฟูขึ้นใช้อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ห้าในการตั้งอุปราชครองมณฑล) ในสมัยโบราณทีเดียวดาบที่ให้นี้ เรียกกันว่า "พระแสงขรรค์ชัยศรี" ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นของคู่บารมีกษัตริย์แต่ผู้เดียว ปัญหานี้จะกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนต่อไป

หน้าที่ของกษัตริย์ที่มีต่อสามนตราชนั้น ยังมีอีกประการหนึ่ง คือให้ความยุติธรรมแก่พวกสามนตราชในคราวที่เกิดกรณีพิพาทหรือสามนตราชตกลงกันไม่ได้ก็จะมาพึ่งศาลของกษัตริย์อันเป็น