หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/62

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๘๙ 

น่านเจ้าประทานที่นาให้แก่ขุนนางผู้ใหญ่คนละ ๔๐ ส้อง๒๑ ขุนนางชั้นรองคนละ ๓๐ ส้อง ส่วนขุนนางผู้น้อยก็ได้รับพระราชทานที่ดินขนาดเล็กลดหลั่นกันลงมาตามลําดับ ลักษณะการผลิตโดยทั่วไป รัฐแบ่งที่นาให้ประชาชนทํา เมื่อทําได้ก็ต้องแบ่งผลิตผลคือข้าวส่งให้แก่เจ้าแผ่นดินเป็นค่านา อัตราอากรค่านาก็คือ คนหนึ่งๆ ต้องส่งข้าวให้กษัตริย์เป็น จํานวน ๒ เต๋า (ถัง) ต่อปี๒๒

ความสัมพันธ์ในการผลิตที่ขูดรีดโดยผ่านที่ดินเป็นสื่อกลางเช่นนี้ เป็นความสัมพันธ์ในการผลิตของระบบศักดินาโดยตรง

แต่!

ข้อน่าคิดมีอยู่ประการหนึ่งคือ ปัจจุบันนี้ นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยชาติวิทยาทั่วไป กําลังสงสัยอยู่ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะมิใช่อาณาจักรของประชาชนไทย! เพราะตามหลักฐานที่สอบค้นได้ใหม่ทําให้จําต้องเชื่อว่า อาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติ "โลโล" ซึ่งเป็นชนชาติในตระกูลธิเบต-จีน ชนชาตินี้เคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต โลโลเจริญถึงขนาดมีภาษาเขียนอันเป็น อักษรภาพ (Ideograph) ทํานองเดียวกับอักษรจีน (ปัจจุบันชนชาติโลโลเป็นชนส่วนน้อยในสาธารณรัฐประชาชนจีน) ความเห็นและหลักฐานที่สอบค้าได้ใหม่นี้ ในปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับกันบ้างแล้วในวงนักศึกษาประวัติศาสตร์ของไทย

ด้วยเหตุนี้ การที่จะวิเคราะห์ระบบผลิตของสังคมไทยโดยเริ่มที่อาณาจักรน่านเจ้าอันเต็มไปด้วยการสันนิษฐาน จึงนับว่าเป็นการเสี่ยงอย่างสําคัญ และถ้าอาณาจักรน่านเจ้าเกิดเป็นของโลโลเข้าจริงๆ การสืบสาวระบบศักดินาของไทยในอาณาจักรน่านเจ้า ก็จะทลายครืนลงอย่างไม่มีปัญหา ฉะนั้นการวิเคราะห์ถึงกําเนิดของระบบศักดินาไทยในที่นี้ จึงจะยกสมัยน่านเจ้าทิ้งเสีย และเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยอันมีศิลาจารึก เป็นหลักฐานแน่นอนเป็นต้นมา