ข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่า บ่ตี" จารึกวัดป่ามะม่วงก็เล่าสรรเสริญคุณงามความกรุณาของพญาลือไท (หลานพ่อขุนรามคําแหง) ไว้ว่า "ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่า บ่ตี ย่อมเอามาเลี้ยงมาขุน บ่ให้ถึงที่ฉิบที่หาย"๒๙ ที่เอามาคุยอวดทําเขื่องๆ ไว้นี้ มิใช่เป็นประเพณีที่อยู่ๆ ก็คิดขึ้นได้เอง การไม่ฆ่าเชลยศึกเป็นคติที่เกิดขึ้นในปลายยุคชุมชนบุพกาลต่อยุคทาส ถ้าเราคํานึงว่าประเพณีต่างๆ ก็คือการสืบทอดความจัดเจนในชีวิตของมนุษย์ในข่ายการผลิตแล้ว เราก็จะต้องยอมรับว่าประเพณีเอาเชลยศึกมาเลี้ยงมาขุน มิให้ถึงแก่ฉิบหายตายโหงลงไปคามือนี้ย่อมเกิดขึ้นในสมัยสังคมทาสของไทยนั่นเอง
เท่าที่ได้อุตสาหะค้นหาหลักฐานมาแสดงยืดยาวในเรื่องทาสนี้ ก็เพื่อที่จะเลิกล้มความเชื่อถือในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน ที่ยึดถือตามนักประวัติศาสตร์ศักดินาว่ายุคสุโขทัยไม่มีทาสและไทยไม่เคยผ่านระบบทาสอันเป็นความเชื่อถือที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของกฏทางภววิสัยแห่งการพัฒนาสังคมเป็นจุดมุ่งหมายสําคัญ
เมื่อข้ออ้างของนักปราชญ์ศักดินามีเพียงประการเดียวว่า ไทย แปลว่า อิสระ ฉะนั้นคนไทยไม่เคยมีระบบทาสมาก่อน มาเพิ่งมีเอาในยุคหลังเพราะคบกับเขมร แต่หลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และภาษาที่ได้แสดงมาโดยลําดับมีมากมายหลายข้อเช่นนี้ ปราชญ์ทางพงศาสดารของศักดินาปัจจุบันจะยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวต่อไปอีกไหมหนอ?