หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/75

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๐๒  โฉมหน้าศักดินาไทย

ระบบการผลิตของชุมชนเชื้อชาติไทยที่กล่าวมานี้ ลักษณะของมันใกล้เคียงไปในทางระบบชมรมกสิกรรมของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพกาล (Primitive commune) ซึ่งถือกันว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์ยุคดึกดําบรรพ์ ระบบของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพกาลนี้ จะมีหัวหน้าชาติกุลใหญ่เทียบได้กับกวานเจ้า หัวหน้าชาติกุลใหญ่จะแบ่งปันที่ดินออกให้หัวหน้าครอบครัวแต่ละครัวไปทํามาหากินโดยมีกําหนดระยะเวลาและมีการแบ่งปันกันใหม่ทุกกําหนดระยะ เดิมทีเดียวหัวหน้าชาติกุลยังคงไถนาด้วยตนเอง แต่มาในตอนท้าย พวกที่มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของชุมชนและหัวหน้าชาติกุลใหญ่จะทําหน้าที่ทางบริหารของตนแต่ประการเดียว พวกสมาชิกในชาติกุลจะช่วยทํานาแทนให้ ซึ่งการนี้มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการขูดรีด จึงจะเรียกว่าระบบงานเกณฑ์อย่างของศักดินาไม่ได้ การเป็นผู้แบ่งปันที่ดินทําให้หัวหน้าชาติกุลและหัวหน้าหมู่บ้านเริ่มมีอภิสิทธิในการเลือกที่ดินไว้ก่อน อันนี้ ตรงกันกับลักษณะของชุมชนไทยในตังเกี๋ย และเมื่อได้แบ่งที่ดินกันเช่นนี้ นานเข้า ก็เกิดความเคยชินในการครอบครอง เกิดการครอบครองถาวรกันขึ้นและในที่สุดก็มีการรับช่วงมรดกเกิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตนขึ้น

หัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคของการถือกรรมสิทธิในที่ดินเป็นทรัพย์สินเอกชน พอจะมองเห็นได้จากชุมชนชาติไทยในบริเวณหัวพันประเทศลาว ในบริเวณนั้นยังคงใช้วิธีแบ่งปันที่ดินอยู่ แต่มิได้กระทําเป็นกําหนดระยะสม่ำเสมออย่างไทยขาว แต่ทํากันตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่นทําเมื่อผู้อยู่ในครอบครัวแยกครัวออกไปตั้งครัวใหม่ต่างหากหรือเมื่อมีคนเพิ่มเข้ามาสู่ชมรมใหม่ หรือในกรณีที่ชาวบ้านร้องค้านว่าที่ดินที่ตนทํากินอยู่นั้นทําประโยชน์ได้ยาก นั่นก็คือเกิดการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินระยะยาวไม่มีกําหนด