หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/83

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๑๐  โฉมหน้าศักดินาไทย

รัฐทาสของเขมรแตกกระจัดกระจายหมดสิ้นอํานาจไปถึงกว่า ๑๐ ปี ในระหว่างนี้ ไทยคงจะปลดแอกเขมรออกได้ทั่วกัน พวกนายทาสของไทยคงคุมกันเข้าตั้งเป็นรัฐต่างๆ ได้สําเร็จ แต่ชาตาของรัฐทาสไทยทั้งปวงไม่ยั่งยืน พ้นจากสิบปีไปแล้ว พวกเขมรกลับตั้งข้อแข็งเมืองต่อพวกจามได้สําเร็จ ผู้ที่ตั้งข้อแข็งเมืองนี้ก็คือ ชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-หลัง ๑๗๔๔) กษัตริย์ของรัฐทาสเขมรองค์นี้เข้มแข็งผิดปกติ บุกเข้าไปจนถึงเมืองหลวงจามถอดพระเจ้าแผ่นดินจามเสีย ตั้งคนของตนขึ้นแทนเสร็จแล้วก็หันมาเล่นงานรัฐทาสต่างๆ ของไทย บุกเข้ายึดได้ลพบุรี ถอดเจ้าทาสไทยลพบุรีลงเสีย แล้วตั้งลูกชายขึ้นเป็นเจ้าทาสแทน ลูกชายคนนี้ ชื่อ อินทรวรมัน๔๒ ทางเหนือรุกไล่ขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตั้งโขลนลําพังขึ้นเป็นผู้ครองรัฐ๔๓ แล้วรุกเลยขึ้นไปจนถึงอาณาจักรพุกาม รัฐทาสของไทยจึงถูกขยี้ ลงอย่างย่อยยับ มิหนําซ้ำพวกชุมชนของไทยทางเหนือ (คืออาณาจักรไชยปราการของท้าวมหาพรหมครั้งกระโน้น) ยังถูกพวกมอญรุกรานจนแตกกระเจิงลงมาอยู่เมืองแปป (ในกําแพงเพชร) เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๓๑ รัฐทาสของไทยจึงระส่ำระสายและทลายลงอย่างไม่มีชิ้นดี

เมื่อพวกเจ้าทาสทั้งปวงถูกจับถูกฆ่าถูกถอดโดยฝีมือเขมร พวกทาสก็หลุดพ้นออกเป็นไท และชุมนุมกันอยู่เป็นแห่งๆ ทํานองเดียวกับที่ยุโรปเคยเป็นมาในสมัยเมื่อพวกอนารยชนรุกราน พวกเสรีชนเหล่านี้ ต่างเข้าพึ่งพาผู้ที่มีกําลังเหนือกว่า และรวมกันอยู่เป็นเหล่าๆ ความสัมพันธ์ในรูปแบบศักดินาคงจะเกิดขึ้นในสังคมไทยในตอนนี้ แบบเดียวกับที่เกิดมาแล้วในยุโรปตามที่กล่าวมาแต่ต้น พวกชุมนุมของไทยเหล่านี้ก็คงต้องถูกเขมรกดขี่รุกรานบังคับให้ส่งส่วยสาอากรเอาตามอําเภอใจ ความขัดแย้งหลักของสังคมขณะนั้นจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทาสเขมรกับชุมชนไทยที่ล้มละลายมาจาก