พ่อขุนบางกลางทาวเจ้าเมืองบางยาง ซึ่งจะเชื่อได้หรือไม่ยังสงสัย
เมื่อประชาชนไทยจากเมืองราด เมืองบางยางร่วมกับประชาชนไทยในเมืองสุโขทัยรวมกําลังกันขับไล่นายทาสเขมรออกไปได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองก็ยกสหายของตนขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งพิธีราชาภิเษกให้แล้วซ้ำยังยกราชทินนามของตนที่ได้รับมาจากเจ้าเมืองเขมรให้แก่พ่อขุนบางกลางทาวอีกด้วย พ่อขุนบางกลางทาวจึงได้เป็นกษัตริย์มีชื่อว่า "พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งภายหลังมาตัดให้สั้นลงเพียง "ศรีอินทราทิตย์"
พร้อมกับรัฐสุโขทัย พวกประชาชนไทยอีกหลายแห่งได้ลุกฮือขึ้นสลัดอํานาจของเขมรออกไปได้สิ้น เช่น รัฐเชียงใหม่ (พญาเมงราย), รัฐพะเยา (พญางําเมือง), รัฐฉอด (ขุนสามชน), รัฐสุพรรณภูมิ (อู่ทอง), รัฐอีจาน (ในดงอีจานใต้จังหวัดนครราชสีมาและสุรินทร์)๕๓ ฯลฯ รัฐไทยเหล่านี้มีลักษณะเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ที่มีป้อมปราการมั่นคง เช่นเดียวกับเจ้าขุนมูลนายที่มีป้อมใหญ่ๆ ของยุโรป ทุกรัฐจึงเป็นจุดศูนย์กลางสําหรับการรวมตัวของพวกเสรีชนและเจ้าขุนมูลนายย่อย ลักษณะของสังคมมีสภาพเช่นเดียวกับยุโรปตอนแรกเริ่มเกิดระบบศักดินาไม่มีผิด
หลักฐานที่ว่าจะชี้ให้เห็นว่าสภาพนี้เป็นความจริงก็คือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหง ในจารึกนั้น มีเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า;
"คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหลือเฟื้อกู้มัน (คือช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกอบกู้มัน) บ่มีช้าง บ่มีม้า บ่มีปั่ว (บ่าว) บ่มีนาง บ่มีเงือน (เงิน) บ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวง (ตั้ง) เป็นบ้านเป็นเมือง"
ลักษณะของการขี่ช้างมาหาพาเมืองมาสู่นี้ เป็นลักษณะของการเข้ามาสามิภักดิ์ของพวกเจ้าขุนมูลนายที่เข้ามาขอพึ่งต่อเจ้า