ที่ดินใหญ่ ส่วนการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อประทานช้างม้าบ่าวไพร่ชายหญิงเงินทองให้ช่วยจัดตั้งให้เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นนี้ เป็นลักษณะของการช่วยเหลือที่ฝ่ายเจ้าที่ดินใหญ่ให้แก่พวกเจ้าที่ดินย่อยที่มาขอพึ่งบุญ อันเป็นลักษณะที่เคยเป็นมาแล้วในยุโรปดังกล่าวมาแต่ต้น
ถ้าจะพิจารณาศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงให้ทั่วถึงแล้ว เราก็จะมองเห็นเบาะแสอีกแห่งหนึ่งที่ทําให้น่าเชื่อว่าสมัยสุโขทัยเป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบทาสที่พังทลายไปกับระบบศักดินาที่กําลังพัฒนาขึ้นแทนที่ เบาะแสนั่นก็คือตอนที่จารึกคุยอวดไว้ว่า "ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ (ลาง-ขนุน) หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน" ที่ต้องเอามาคุยอวดไว้ว่า "ใครสร้างได้ไว้แก่มัน" นี้ ทําให้มองเห็นได้ว่าก่อนสมัยนี้ รูปการณ์เป็นคนละแบบกล่าวคือ "ใครสร้างไว้ไม่ได้แก่คนนั้น" ที่ว่าไม่ได้แก่คนนั้น หมายถึงไปได้แก่คนอื่น...ทาสสร้างได้ไว้แก่เจ้าทาส! นั่นคือ ก่อนยุคนั้นขึ้นไปพวกทาสยังมีสมบัติส่วนตัวไม่ได้ ทําอะไรได้เท่าไหร่ต้องตกเป็นของเจ้าทาสหมด พวกทาสเริ่มมามีกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวอันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนก็เมื่อปลายยุคทาสต่อกับยุคศักดินาซึ่งทาสกําลังกลายเป็นเลก การเปลี่ยนแปลงเรื่องกรรมสิทธิ์เช่นกล่าวนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของสังคม จารึกจึงอดไม่ได้ที่จะเก็บมาคุยอวดไว้ให้คนทั้งหลายทั้งปวงฟัง หากเป็นเรื่องธรรมดาๆ อยู่นานนมแล้วจะต้องเก็บมาคุยอวดไว้ทําไม?
เจ้าที่ดินใหญ่ หรือ "พ่อขุน" ของสุโขทัยนั้นสังเกตได้ว่าเป็นเจ้าที่ดินหน้าใหม่ ยังไม่มีที่ดินใหญ่โตมากมายเท่าใดนัก๕๔ พวกเจ้าขุนมูลนายย่อยๆ จึงยังมีอํานาจสมบูรณ์และมักขัดขืนช่วงชิงที่ดินและผลประโยชน์กับสุโขทัยเสมอ จะเห็นได้ว่าพอตั้งรัฐ