หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๓๖  โฉมหน้าศักดินาไทย

ที่ดินเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการทำมาหากินของมนุษย์ ในสังคมของมนุษย์ก่อนสมัยทุนนิยมซึ่งเครื่องจักรกลถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินนั้น เครื่องมือสำคัญในการหากินของมนุษย์ก็คือที่ดิน ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ยังชีพด้วยการเพาะปลูกซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า กสิกรรม เป็นหลักความผาสุกของมนุษย์ แต่ละคนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่า เขามีที่ดินมากหนือน้อยหรือไม่มีเลย ผู้ที่มีที่ดินมากก็มีความผาสุกมาก ผู้ที่มีที่ดินน้อยก็มีความผาสุดน้อยลดหลั่นลงมา และผู้ที่ไม่มีที่ดินเลยก็ย่อมประสบกับความยากลำบากในการครองชีพ เพราะต้องเช่าที่ดินเขาทำมาหากิน เสียค่าเช่า เสียส่วนแบ่ง หรือไม่ก็ต้องเป็นคนงานในไร่นาของเจ้าของที่ดิน ซึ่งเรียกกันว่า "ทาสกสิกร" (Serf) ที่ไทยโบราณเรียกว่า "ไพร่" หรือ "เลก" ถ้าจะเทียบกับระบบผลิตทุนนิยม ผู้ที่มีที่ดินมากก็เทียบได้กับนายทุนใหญ่ที่มีโรงงานมีกิจการค้าในกำมือมากมาย พวกนี้ย่อมเสวยความผาสุกร่ำรวยเป็นพวก "มีบุญ" ผู้ที่มีที่ดินน้อยก็เทียบได้กับนายทุนขนาดย่อมหรือนายทุนน้อย ซึ่งมีความผาสุกลดหลั่นลงมา พวกที่ไม่มีที่ดินเลยก็เทียบได้กับพวกที่ไม่มีโรงงานไม่มีกิจการค้าใดๆ ต้องเป็นคนงานขายแรงได้รับค่าจ้างพอประทังชีวิตไปชั่ววันหนึ่งๆ ตาม "วาสนาและเวรกรรมของสัตว์"

นอกจากความผาสุกของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับเครื่องมือในการทำมาหากินหรือปัจจัยแห่งการผลิตแล้วอํานาจของมนุษย์ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของเครื่องมือในการทำมาหากินด้วยเช่นกัน เจ้าของที่ดินใหญ่มีไพร่มีเลก หรือนัยหนึ่งผู้คนที่ทำงานภายใต้บังคับบัญชาก็ย่อมมีอิทธพลและอํานาจมากเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ ก็เพราะเขากำเอาชะตาชีวิตของคนจำนวนมากไว้ในกำมือ คนที่ทำงานอยู่ภายใต้บารมีของเจ้าของที่ดินใหญ่ จะอด จะอิ่ม จะทุกข์