หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/94

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๒๑ 

พ.ศ. ๑๙๐๓ หลังจากการสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๑๐ ปี ตอนหนึ่งของคําปรารภนั้นมีว่า:-

"จึ่งพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดํารัสตรัสแก่เจ้าขุนหลวงสพฤๅแลมุขมนตรีทั้งหลายว่า ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้"

เป็นอันว่าฐานะของกษัตริย์ตอนต้นอยุธยาได้ถูกประกาศอย่างกึกก้องเต็มปากโดยไม่ต้องเกรงกลัวใครแล้วว่า กษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดิน และกษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาประทานที่ให้ราษฎรทํามาหากิน แน่นอนเมื่อที่ดินทั้งมวลเป็นของกษัตริย์ ประชาชนก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ที่ว่าเช่นนี้ ก็เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าประชาชนจะขายจะซื้อที่ดินกันได้ก็เพียงแต่ในบริเวณตัวเมืองหลวงเท่านั้น นอกเมืองหลวงออกไปแล้วที่ดินเป็นกรรมสิทธิของกษัตริย์โดยเด็ดขาดจะซื้อขายกันไม่ได้ หลักฐานที่ว่านี้ก็คือข้อความในมาตรา ๑ ของกฏหมายลักษณะเบ็ดเสร็จส่วนที่ ๒ (เพิ่มเติม) ที่กล่าวถึงนั้นเอง มาตรานั้นมีความว่า

"ถ้าที่นอกเมืองหลวง อันเป็นแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยาใช่ที่ราษฎร อย่าให้ซื้อขายแก่กัน..."

นั่นก็คือกรรมสิทธิในที่ดิน ซึ่งประชาชนจะมีได้นั้นมีอยู่เพียงในตัวเมืองหลวงเท่านั้น ประชาชนผู้ที่อยู่นอกเมืองหลวงออกไป จนถึงปลายอาณาเขตแห่งอาณาจักรศรีอยุธยาไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่ดินเลยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ลักษณะนี้เป็นลักษณะการผูกขาดที่ดินของเจ้าที่ดินใหญ่คือกษัตริย์ ประชาชนมีหน้าที่อาศัยผืนแผ่นดินท่านอยู่ มีหน้าที่เสียภาษีอากรอันหนักหน่วง เป็นการตอบแทน