หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/140

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
พระราชหัตถ์เลขาพระราชทานราชทูต
ทรงปรารภที่ฝรั่งเศสแลอังกฤษทำแก่ไทยเหมือนคนป่าเถื่อน

จดหมายมายังพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน ราชทูต[1] พระราชเสนา อุปทูต ฝ่ายสยาม ซึ่งไป ณ กรุงปารีส ให้ทราบว่า หนังสือของท่านที่ลงวัน ๑๒ ฯ  ค่ำ ปีขาล อัฐ ได้ยื่นที่เมืองปารีสนับเป็นที่ ๖ นั้น ได้มาถึงมือ ฯข้าฯ ที่วังจันทรเกษม กรุงเก่า เมื่อวันที่ ๑๔ ค่ำ[2] ปีเถาะ นพ เวลาเช้า เดินทางอยู่ถึง ๔๗ วัน และคุณศรีสุริยวงศ์ท่านก็ขึ้นมาอยู่กรุงเก่ากับ ฯข้าฯ หนังสือที่มีมาถึงท่านนั้น ท่านก็ได้ให้ ฯข้าฯ ดูด้วยแล้ว ฯข้าฯ ตอบมาครั้งนี้ ก็ตอบมาตามธรรมเนียม แต่ที่จริง ฯข้าฯ คิดเห็นว่า หนังสือนี้ก็จะไม่ทันทูตที่กรุงปารีสหรือที่กรุงลอนดอน เพราะจะไปถึงเมืองฝรั่งเศสหรือเมืองอังกฤษก็ต่อราวแรมเดือน ๗ เมื่อเห็นว่า ท่านทูตเมื่อว่าได้การตามประสงค์ก็ดี ไม่ได้ก็ดี ก็คงจะกลับมาเสียแล้วแต่แรมเดือน ๖ นี้หรือขึ้นเดือน ๗ หนังสือก็คงจะคลาดแคล้วไป อนึ่ง ถึงจะส่งให้ว่าให้ทำอย่างไร ความที่สั่งกว่าจะถึงเวลาก็จะล่วงเสียแล้ว การที่ฝรั่งเศส ฯข้าฯ เข้าใจว่า เพราะหอมชื่อแม่น้ำของ[3] ว่าเป็นแม่น้ำใหญ่ไปไกลเหมือนลำเอราวดีที่แผ่นดินพม่า แลแม่น้ำคัญเชช[4] คือ แม่น้ำคงคา เมืองเบงคอล ของอังกฤษ แลแม่น้ำของไหลลงเมืองเขมรที่ข้าวนาหอมเอมเปเรอ แลมีปากน้ำออกใกล้ไซ่ง่อน จึงคิดจะเอาแม่น้ำนี้เข้าไปทำนุบำรุงของฝรั่งเศส เป็นเกียรติยศว่า มีแม่น้ำใหญ่ยาวอยู่ในอำนาจเอมเปเรอ เห็นเหมือนอังกฤษได้แม่น้ำคัญเชชคงคาไว้ในคอลอนี 


  1. ชื่อ วร บุนนาค
  2. วันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐
  3. คือ แม่น้ำโขง
  4. คือ แม่น้ำคงคา ทรงเรียกตามฝรั่งว่า Ganges