หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

อำนาจเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ฝ่ายพระยาพระเขมรสามนายซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเขมรในครั้งนั้นก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ เขียนใบบอกเข้ามาอ่อนน้อมต่อพระบารมีให้กราบทูลขอพระยายมราช แบน ซึ่งเข้ามาค้างอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่ก่อนนั้น ให้ออกไปช่วยราชการรักษาเมืองเขมร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดอำนวยให้ออกไปตามประสงค์ ครั้นพระยายมราช แบน ออกไปอยู่ในเมืองเขมรไม่ช้า ก็เกิดวิวาทกันขึ้นกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่สามนายนั้น เพราะคิดการบ้านเมืองมิต้องกัน พระยายมราช แบน จับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่สามนายนั้นฆ่าเสีย แล้วก็ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ทำนุบำรุงนักพระองค์เอง ซึ่งเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีชนมายุเยาว์นั้น รักษาแผ่นดินอยู่มาช้า พวกแขกจามเป็นอันมากคุมสมัครพรรคพวกทำการกระด้างกระเดื่องต่อผู้ครองแผ่นดินเมืองเขมร พระยายมราช แบน กับพระยาพระเขมร จะกำราบต่อสู้เอาชัยชนะมิได้ จึ่งได้พานักพระองค์เอง เจ้ากรุงกัมพูชา กับเจ้าผู้หญิง เป็นพระท้าวสององค์ เป็นพระเรียมสัตรีสององค์ เข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ภายหลัง พวกญวนทราบว่า เมืองเขมรเป็นจลาจล ก็ยกขึ้นมาช่วยกำจัดพวกแขกจามแล้วก็ยึดเอาเมืองเขมรฝ่ายใต้ไว้ในอำนาจ แต่เมืองเขมรฝ่ายเหนือ คือ เมืองบัตบอง เมืองนครวัด แลอื่น ๆ ยังคงอยู่ในอำนาจฝ่ายกรุงเทพมหานคร ภายหลัง เจ้าเวียดนามเสียเมืองเว้แก่องไกเซิน ญวนสิ้นอำนาจไป องเชียงสือ บุตรเจ้าเวียดนาม ต้องทิ้งเมืองหนีเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้น ญวนที่เข้ามาครอบงำยึดเอาเมืองเขมรไว้นั้นก็เสื่อมถอยน้อยอำนาจหลีกเลี่ยงไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึ่งมีพระราชโองการดำรัสให้พระยายมราช แบน กลับออกไปรักษาแผ่นดินเมืองเขมรทำนุบำรุงไว้ให้นักพระองค์เองซึ่ง