หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/24

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ยังมีชนมานุเยาว์ย่อมอยู่ ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงทำนุบำรุงสั่งสอนอยู่ในกรุงเทพมหานครหลายปี ครั้นมาเมื่อปีขาล ฉศก ศักราช ๑๑๕๖[1] นักพระองค์เอง เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีชนมายุได้ ๒๑ จึงได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภิเศกให้มีนามว่า องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีศรีสุริโยประพันธ์ มีสร้อยนามต่อไปอีกโดยสมควร พระราชทานเครื่องยศอย่างสูงเป็นเจ้าประเทศราชอย่างเอก แล้วโปรดให้ออกไปครอบครองแผ่นดินเมืองเขมรซึ่งแผ่นดินเดิมของพระบิดา คือ สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน ตามสกุลวงศ์ แลให้สมประสงค์พระยาพระเขมรผู้น้อยผู้ใหญ่ตลอดลงไปจนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเมืองกัมพูชา โปรดให้องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแผ่นดินเขมรทั้งสิ้น ขอยกไว้แต่แดนดินของเขมรเป็นเอกเทศ คือ แขวงเมืองบัตบอง เมืองนครวัด ตัดพระราชทานให้อยู่ในอำนาจพระยายมราช แบน ซึ่งโปรดให้เป็นพระยาอภัยภูเบศร อยู่ครอบครอง แลยกมาขึ้นแก่กรุงเทพมหานครทีเดียว ไม่ได้ขึ้นแก่เมืองบรรทายเพชร เพราะทรงเห็นว่า พระยายมราช แบน เคยเป็นผู้ใหญ่ได้บังคับบัญชาการบ้านเมืองอยู่ช้านาน แลมีความชอบเป็นอันมากมาแต่ก่อน ที่เมืองบรรทายเพชรนั้น โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ออก เป็นผู้ใหญ่สิทธิ์ขาดในราชการ ทำนุบำรุงองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ให้ว่าราชการบ้านเมืองรักษาแผ่นดินโดยสุขสวัสดิ์เป็นประเทศราชใหญ่อันหนึ่งขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร ฝ่ายองเชียงสือ ราชบุตรเจ้าเวียดนามเก่า ซึ่งเข้ามาอาศัยพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น มีหนังสือเข้าออกกับพวกพ้องที่เมืองไซ่ง่อนให้ซ่องสุมผู้คนพลพาหนะได้มาก แล้วก็กราบถวายบังคมลากลับออกไปคิดอ่านทำศึกกับพวกองไกเซิน


  1. พุทธศักราช ๒๓๓๗