หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/29

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔

สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันจึงคิดอ่านกับพระยาพระเขมรที่สนิทกับตัวเป็นอันมากว่า จะขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ ดังก่อนนั้น เห็นจะไม่มีความสุข เพราะเมืองเขมรอยู่ใกล้เมืองญวน ญวนก็มีอำนาจใหญ่โตขึ้นแล้ว ถ้าญวนจะคิดยกกองทัพมาทำแก่เมืองเขมร จะต้องให้กรุงเทพฯ ช่วย ฝ่ายกรุงเทพฯ ก็ย่อมมีราชการทัพศึกณรงค์สงคราม เพราะพม่ายกมาย่ำยีในเขตรแดนด้านตะวันตกเนือง ๆ เมื่อคราวมีข่าวว่า พม่าจะยกมาอยู่แล้ว ที่ไหนจะจัดกองทัพให้มาช่วยเขมรได้ เพราะเห็นว่า การที่จะกันพม่านั้นเป็นการสำคัญ ถ้าเป็นเวลาไม่มีทัพศึกโดย จะให้ยกมาช่วย ทางก็ไกล กว่าจะมาถึงได้ก็เนิ่นช้า รี้พลที่มาก็บอบช้ำ มีกำลังน้อย ฝ่ายเขมรอยู่ใกล้กับญวน เมื่อถูกญวนรบกวน ก็จะยับไปเสียก่อน เหมือนคั่วถั่วกับงาพร้อมกัน กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ แต่ก่อนเมื่อครั้งเมืองเวียตนามยังมีอำนาจใหญ่ ก่อนมีศึกกับองไกเซินนั้น องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชตนซึ่งเป็นพระเจ้าปู่ก็ได้ขึ้นเมืองญวนแต่เดิมมา ป้องกันรักษาพ้นภัยจากกองทัพไทยกรุงธนบุรี ต่อเมื่อเมืองเวียตนามมีศึกกับพวกองไกเซิน จึ่งต้องไปของ้ออ่อนน้อมแก่กรุงธนบุรี แลต้องยอมยกแผ่นดินให้แก่พระองค์รามตามชอบใจของผู้ครองฝ่ายไทย ต่อเมื่อพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ไม่ชอบใจพระองค์รามสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ก็ได้ไปอาศัยพึ่งกำลังญวนเมืองไซ่ง่อนมาทำลายล้างพระองค์รามลงเสีย แล้วจึ่งได้ยกองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีพระองค์เองให้เป็นเจ้าแผ่นดินเขมร แต่แรกนั้น ก็ยังพึ่งญวนอยู่ ต่อภายหลังเมืองเวียตนามเสียแก่พวกไกเซิน อำนาจญวนอ่อนไป แล้วแขกจามกำเริบขึ้นในบ้านเมือง เขมรจึงต้องมาพึ่งกรุงเทพฯ ก็บัดนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียตนามยาลองได้คืนบ้านเมืองฝ่ายญวนเป็นปรกติตั้งขึ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียตนามยาลองก็มิใช่วงศ์อื่น เป็นวงศ์เจ้าเวียตนาม