หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/31

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖

เครื่องยศพานทองอย่างใหญ่ แลเต้าน้ำทอง แลสิ่งของอื่นเป็นมาก แล้วให้ตราตั้งออกไปทีเดียว ไม่ได้มีศุภอักษรออกไปหารือสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันก่อน ครั้นสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช ออกไปถึงเมืองบรรทายเพชรแล้ว สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันก็มีความโทมนัสใจมาก ด้วยการที่กรุงเทพฯ ตั้งสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราชไป ไม่ได้มีศุภอักษรออกไปหารือก่อนนั้น เห็นไปว่า เป็นอันเสื่อมเสียเกียรติยศมาก จึ่งให้หาพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ซึ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ กับสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราชนั้น ไปไต่ถามการทั้งปวงที่ได้พบได้เห็นเมื่อเข้ามากรุงเทพฯ นั้น แล้วก็เกลี้ยกล่อมชักชวนให้เข้าคิดอ่านในการที่จะคิดขอลดเลิกเครื่องราชบรรณาการที่เคยส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายในกรุงเทพฯ ทุกปีอย่างแต่ก่อนนั้นเสีย คิดว่า จะไว้ตัวเป็นกลาง ต่อถึงปีที่สามจึงจะแต่งบรรณาการไปคำนับเมืองไทยฝ่ายหนึ่ง เมืองญวนฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน พระยาพระเขมรพวกนั้นจึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ พึ่งได้เสวยราชสมบัติขึ้นใหม่ ถ้าไม่ถวายราชบรรณาการเหมือนอย่างแต่ก่อน จะเป็นที่ทรงเห็นไปว่า ไม่นับถือในพระบารมีเหมือนอย่างพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน จะทรงขัดเคืองแล้วให้ยกกองทัพออกมาทำแก่เมืองเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชจันจึ่งว่า ถ้าดังนั้น ก็จะไปขอกองทัพพระเจ้ากรุงเวียตนามมาช่วย จึ่งเอาหองแลดวงตราของประทานที่ได้มาแต่เจ้ากรุงเวียตนามนั้นออกอวดออกอ้าง แล้วก็ให้พระยาพระเขมรพวกนั้นไปปรึกษาความคิดนั้นกับสมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช แลนักองค์ด้วงผู้น้อง แลพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ในหัวเมืองต่าง ๆ สมเด็จพระมหาอุปโยราช สมเด็จพระมหาอุปราช แลนักองค์ด้วง ทั้งสามไม่เห็นชอบด้วย ไม่ยอมเข้าคิดตาม ก็