หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๔

กรุงเทพฯ หามิได้ แต่นักองค์วัตถานั้น เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนแต่องค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดียังไม่ถึงแก่พิราลัยในกรุง ทราบความอยู่ว่า องค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี ผู้พระบิดา ขัดเคือง ห้ามพระยาพระเขมรที่ใช้เข้าไปในกรุงเทพฯ ด้วยกิจราชการนั้น ๆ ไม่ให้ไปหามาสู่นักองค์วัตถาเลย แต่การนั้นเห็นว่า เป็นแต่บิดาขุ่นข้องขัดเคืองกับบุตร ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับผู้ครองแผ่นดินฝ่ายกรุงเทพ แล้ว ก็นิ่งอยู่ หาได้ซักไซ้ไล่เลียงไต่ถาม ครั้นมีศุภอักษรบอกเข้าไปแต่เมืองอุดงมีไชยว่า องค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีป่วยหนัก ผู้ครองแผ่นดินกรุงเทพฯ จึงคิดเห็นว่า องค์นักวัตถาเป็นราชดนัยขององค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี เมื่อเวลาพระบิดาไข้หนักอย่างนี้ ไม่ควรจะอยู่แยกย้ายจนไม่ได้ปรนนิบัติ กักขังไว้ให้สนองคุณพระบิดาในปลายมือ ถ้าองค์สมเด็จพระหรีรักษรามมหาอิศราธิบดี พระบิดา ถึงแก่พราลัย จะเป็นที่เสียใจแก่นักองค์วัตถาแลญาติทั้งปวง เพราะไม่ได้พร้อมหน้ากันในเวลาพิราลัยของพระบิดาตามเยี่ยงอย่าง ธรรมเนียมธรรมดาของชนในโลกเป็นอันมาก จึงได้ส่งองค์วัตถาออกมากับข้าหลวงซึ่งให้ออกมาฟังอาการองค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี นักองค์วัตถา เมื่อจะมาจากกรุงเทพฯ ก็ได้ให้ปฏิญาณแก่ผู้ครองแผ่นดินฝ่าย ณ กรุงเทพฯ ว่า ถ้าองค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีถึงแก่พิราลัยแล้ว จะอยู่ในเมืองอุดงมีไชยแต่พอการปลงศพ เสร็จแล้วจะขอพานักมารดากับยายออกจากเมืองอุดงมีไชยกลับไปอยู่ในกรุงเทพฯ ตามเดิม การนี้เป็นความจริง ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายกรุงเทพฯ จะได้นัดแนะรู้เห็นเป็นใจกับนักองค์วัตถาให้ออกมาเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนก่อการกำเริบวิวาทกับองค์พระเรียมทั้ง ๒ องค์ คือ องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช แลองค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า