หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/62

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๗

เข้าไปให้ทราบเนือง ๆ ครั้นเมื่อไม่บอกเนือง ๆ จะคอยต่อการที่โตใหญ่เป็นแน่แล้วจึงจะบอกต่อภายหลัง หรือความอันใดไม่สู้งาม ถึงการนั้นเป็นที่เล่าลืออื้อฉาว ก็อายอดสู่อยู่ จะไม่บอกเข้าไปแล้ว เมื่อมีฝรั่งอังกฤษคนบอกเขารู้แล้วเขามาถาม จะให้ตอบไปว่า ไม่รู้เลย นั้นจะดีจะงามหรือ หรือลางทีเขามาคิดเป็นการใหญ่เหมือนเมื่อลือเข้าไปว่า เจ้าเมืองเขมรบิดาบุตรทั้งสองจะรบกัน ให้มาเกณฑ์ทัพจนถึงเมืองกำปอด กงสุลอังกฤษมาปรึกษาคิดว่า ถ้าเมืองเขมรวุ่นวายจนถึงเจ้าเมืองทั้งสองจะรบกันแล้ว ลูกค้าต่างประเทศก็จะไม่มีที่พึ่ง ใครใครจะแย่งได้แย่งเอา จึงจะขอบอกออกไปถึงอัดมิรัล (มิใช่อัศมิรัฟ) ให้เอาเรือรบอังกฤษมารักษาเมืองกำปอด ปิดไว้ดังนี้ จะให้ตอบแก่เขาอย่างไร ถ้ามีความลือหลายปากว่าไปต่าง ๆ เป็นการทัพการศึกการสำคัญ จะให้อดนิ่งอยู่คอยฟังฤๅ เพราะอยากจะใคร่ทราบเร็ว ๆ ก็ต้องแต่งคนมาสืบถามหรือถามคนที่ไปมาอื้ออึงไป การเป็นดังนั้น จะมิเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติว่า กรุงฯ กับเมืองไม่สนิทกันเหมือนครั้งองค์จันไปฤๅ เมื่อบอกเข้าไปแล้ว เห็นการสิ่งใดขาดสิ่งใดเกิน จะได้ช่วยตักเตือนให้สติองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีคิดราชการต่อไป อย่าให้ระวังเหลือระวังเกินเกรงผิดเหมือนแต่ก่อน หาต้องการไม่ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้วางพระราชหฤทัยสนิทกับองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดียิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินไว้วางพระทัยเจ้าเมืองเมืองเขมรแต่ก่อน ๆ สารตรามา ณ วัน … ค่ำ ปีวอก โท[1]

เลขที่ ๗๑
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงเรียบเรียง

  1. สารตราเรื่องนี้ไม่ปรากฏดิถีขึ้นแรมและเดือนจันทรคติ แต่เมื่อพิเคราะห์ตามท้องเรื่อง ก็ราว ๆ เดือน ๙ ปีวอก พุทธศักราช ๒๔๐๓