หน้า:2482-278 (Ministry of Finance v. Prajadhipok & Rambai Barni).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ข่าวโฆษณาการ
 

มีหลายวิธี การประกันชีวิตเป็นวิธีหนึ่งในโครงการณ์ที่เสนอ และจำเลยได้จ่ายเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปในการประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ การส่งเงินไปประกันชีวิตนั้นเป็นเวลาติด ๆ กับที่กรมพระกำแพงเพ็ชร์ฯ เสนอโครงการณ์

ศาลแพ่งเห็นว่า ตามคำพะยานโจทก์ดั่งกล่าวนี้ คดียังไม่พอฟังเป็นมูลได้ว่า จำเลยได้โอนและจ่ายเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย พอแก่การที่จะออกคำสั่งก่อนคำพิพากษาให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยตามคำขอของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้นำบัญชีแม้แต่แผ่นเดียวหรือหนังสือสั่งการของจำเลยที่ ๑ แม้แต่ชิ้นเดียวมาแสดง พะยาน ๒ ปากนี้ทราบเป็นข้อเท็จจริงมาได้ก็โดยตรวจพบจากเอกสารต่าง ๆ จึ่งมีค่าเสมือนพะยานบอกเล่า โจทก์หาได้นำพะยานที่รู้เรื่องเดิมแม้แต่ปากเดียวมาสืบประกอบไม่

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นนี้ บทบัญญัติในมาตรา ๒๕๕ อนุมาตรา (๑) มีแต่เพียงว่า คำฟ้องที่ผู้ขอยื่นและในโอกาสที่ยื่นคำขอนั้นมีเหตุสมควรเท่านั้น กฎหมายไม่ประสงค์ถึงกับว่า ศาลต้องพอใจจากพะยานที่โจทก์นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบว่า คดีของโจทก์มีพะยานหลักฐานมั่นคง เมื่อฟังได้ว่า คดีของโจทก์มีเค้ามูลควรเชื่อว่า เป็นความจริง ก็เพียงพอแล้ว ยิ่งในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศาลอาจมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อนคำพิพากษาโดยเพียงแต่ฟังจากคำแถลงของโจทก์เท่านั้น ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๗ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ในเรื่องนี้ โจทก์ได้นำหลวงการสงคราม และหลวงดำริอิศรานุวรรต ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ราชการดั่งกล่าวแล้ว มาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยดั่งคำฟ้องของโจทก์ นับว่า โจทก์ได้นำพะยานมาสืบเป็นที่พอใจของศาลแล้วตามมาตรา ๒๕๕ อนุมาตรา (๑)

ในข้อ (๒) นั้น โจทก์ได้นำหลวงสารสินทะเบียนสิษฐ์ นายวินิต นาวิกบุตร์ และนายเฉลียว ปทุมรส มาเบิกความ ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินตำบลสวนดุสิต ๑ แปลงให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ เป็นราคา ๕,๐๐๐ บาท ครั้นวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ได้มาขอทำนีติกรรมณหอทะเบียนที่ดินเพื่อขายที่ดินอีก ๘ แปลง ราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท ให้แก่บุคคลคนเดียว คือ หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ที่ดินรายแรกที่จำเลยขายให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ์นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนขายให้แก่หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ ทองใหญ่ เป็นราคา ๔,๐๐๐ บาท หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ และหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล มิใช่เป็นคนอื่นไกล แต่เป็นคนที่อยู่ในวังสุโขทัย ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของจำเลย และในบัดนี้ อยู่ในความครอบครองของจำเลย และบุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่จำเลยที่ ๑ เคยอุปการะมา นอกจากนั้น หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ก็เป็นน้องชายของหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการทรัพย์สมบัติของจำเลยที่ ๑ ด้วย อนึ่ง หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ไม่มีฐานะพอที่จะซื้อที่ดินราคาตั้ง ๕,๐๐๐ บาทได้