แม่แบบ {{หัวสลับ 2}} ถูกยกเลิกแล้ว กรุณาใช้แม่แบบ {{หัวสลับ}} ทดแทน |
ด้วยผลแห่งหลักการรากฐานนี้ จักรพรรดิจึง "ทรงมีความศักดิ์สิทธิ์และจะทรงถูกละเมิดมิได้" อิโตว่า
"จักรพรรดินั้นทรงอวตารลงมาจากสรวงสวรรค์ ทรงเป็นเทวะ และทรงมีความศักดิ์สิทธิ์ ทรงโดดเด่นเหนือพสกนิกรทั้งผอง ทรงต้องได้รับความยำเกรง และจะทรงถูกละเมิดมิได้ . . . ใช่แต่จะต้องมีความยำเกรงต่อพระองค์ของจักรพรรดิ ยังต้องไม่นำจักรพรรดิไปเป็นหัวข้อแห่งการออกความเห็นในทางเสียหายหรือในการอภิปรายอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย"[1]
การที่จักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ใดจะเกิดเผชิญชะตากรรมเยี่ยงชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษได้นั้น เป็นเรื่องที่นึกภาพกันไม่ออกจริง ๆ ก็แนวคิดว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดินี้เองที่ทำให้ทีแรกผู้คนไม่เชื่อถือรายงานการสมคบกันล้มล้างการปกครองเมื่อปี 1910[2] อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า แม้แต่จักรพรรดิเองก็ไม่ทรงรอดพ้นจากการตกเป็นหัวเรื่องแห่งการอภิปรายเสมอไป กระนั้น ในภาพรวมแล้ว ถือโดยทั่วกันว่า ทรงมีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ความพยายามลากพระองค์ลงสู่การเมืองจึงนำมาซึ่งความโกรธเคือง การพยายามอย่างชัดเจนที่จะนำพระราชหัตถเลขาของเยาวจักรพรรดิพระองค์ใหม่มาใช้เพื่อประโยชน์ของพลพรรค ก็เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีชุดสุดท้ายของคัตสึระ[3] ย่อยยับอัปราลงในปี 1913 ส่วนการที่ครั้งนั้นไซอนจิ[4] ไม่สั่งให้เซยูไก[5] ยอมตามสิ่งที่ว่ากันว่า เป็นพระราชประสงค์ขององค์จักรพรรดิในกรณีนั้น ก็เชื่อกันว่า เป็นเหตุให้ไซอนจิจำต้องถอนตัวจากตำแหน่งผู้นำพรรคแล้วหันเข้าหาชีวิตสันโดษสืบไป
ในปาฐกถาต่อสมาคมเอเชียแห่งญี่ปุ่น ดอกเตอร์แมกลาเรน[6] กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
"มีการนำพระปรมาภิไธยอันทรงเกียรติภูมิล้ำเหลือนั้นมาใช้ปกป้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง . . . มีการทำให้สถานะเทพอวตารขององค์กษัตริย์กลายเป็นที่แบกรับภาระทั้งหมดในการปกครองแบบคณาธิปไตย . . . คณาธิปไตยก็ดี ราชาธิปไตยก็ดี ถูกผสมปนเปเข้าด้วยกันเป็นอำนาจปกครองเพียงหนึ่งเดียวที่ยังดำรงคงอยู่ผ่านความยำเกรงที่ผู้คนมีต่อราชบัลลังก์"[7]
แนวคิดเรื่องพระปรมาภิไธยมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดกรณีตัวอย่างอันน่าขำกลิ้งของสิ่งที่เรียกกันว่า การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาแล้ว ดังเช่น ในปี 1893 คณะรัฐมนตรี[8] ต้องถูกต่อว่าต่อขาน "เพราะไม่ระมัดระวังในการดำรงรักษาศักดิ์ศรีของสถาบันกษัตริย์" และปรากฏ
- ↑ Commentaries, p. 6.
- ↑ หมายถึง การลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิเมจิเมื่อปี 1910 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คณะรัฐมนตรีชุดที่ 3 ที่มีคัตสึระ ทาโร เป็นนายกรัฐมนตรี (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ไซอนจิ คิมโมจิ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ พรรคการเมือง ชื่อเต็มว่า ริกเก็งเซยูไก (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ McLaren, W. W. (1914). Japanese Government Documents. Tokyo: Asiatic Society of Japan. OCLC 561088048. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Japan Advertiser, Tokyo, 19 June, 1913.
- ↑ คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีอิโต ฮิโรบูมิ เป็นนายกรัฐมนตรี (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)